วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

Cassini ส่งภาพถ่ายดาวเสาร์กลับมาหลังจากเข้าสู่วงโคจรระยะใกล้


         หลังจาก ยานสำรวจดาวเสาร์แคสซินีเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของภารกิจ โดยการเปลี่ยนเส้นทางไปโคจรระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวนเรียบร้อยแล้ว จานรับสัญญาณ Deep Space Network Goldstone Complex ของนาซาก็ได้รับสัญญาณจากยานแคสซินีในเวลา 23:56 น. ของวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา (ซึ่งตรงกับเวลา 13:56 ของวันที่ 27 เมษายนตามเวลาของบ้านเรา) และได้มีการส่งภาพถ่ายดาวเสาร์ในระยะใกล้ที่สุดกลับมายังโลก



          ในขณะที่ลอยผ่านเข้าไปในช่องว่างระหว่างดาวเสาร์และวงแหวน ยานแคสสินีอยู่ห่างจากเมฆชั้นบนของดาวเสาร์ประมาณ 3,000 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากขอบวงแหวนด้านในที่มองเห็นได้ด้วยตาประมาณ 300 กิโลเมตร ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวมีความดันบรรยากาศเทียบเท่ากับความดันบรรยากาศที่ระดับน้ำทะเลของโลก

          ถึงผู้ควบคุมภารกิจมั่นใจว่ายานแคสซินีจะสามารถผ่านช่องว่างดังกล่าวได้สำเร็จ แต่พวกเขาก็ยังเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษกับการผ่านเข้าไปในวงโคจรระยะใกล้แบบที่ไม่เคยมียานอวกาศลำใดผ่านเข้าไปสำรวจมาก่อน

          ช่องว่างระหว่างวงแหวนกับชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์มีระยะห่างประมาณ 2,000 กิโลเมตร จากแบบจำลองที่ดีที่สุดแสดงให้เห็นว่า ถ้ามีอนุภาคของวงแหวนอยู่ในบริเวณที่ที่ยานแคสซินีจะบินผ่านเข้าไป แม้อนุภาคเหล่านั้นจะมีขนาดเล็กประมาณอนุภาคหมอกควัน แต่ถ้าหากมีอนุภาคพุ่งเข้าปะทะส่วนที่อ่อนไหวของยานอวกาศที่บินด้วยความเร็วประมาณ 124,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็สามารถทำให้ยานเสียหายได้

          เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์อันเลวร้ายดังกล่าว ยานแคสซินีได้หมุนจานรับสัญญาณขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เมตรมาเป็นโล่ป้องกันบังในทิศทางที่อาจจะมีอนุภาคพุ่งเข้าใส่ ทำให้ไม่สามารถติดต่อกับยานในช่วงที่ยานบินผ่านเข้าไปในช่องว่างระหว่างวงแหวนกับดาวเสาร์ได้ โดยกว่า 20 ชั่วโมงที่ขาดการติดต่อ ยานอวกาศได้เก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์ในขณะเคลื่อนเข้าใกล้ดาวเสาร์ไว้ให้มากที่สุด ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปดูภาพของดาวเสาร์ในระยะประชิดได้ ที่นี่

          จริง ๆ ตั้งใจจะเขียนบทความนี้ตั้งแต่เมื่อวาน แต่เพราะเมื่อวานผมไปร่วมวิ่งในงาน Singha Obstacle Run IX (สิงห์ เก่ง แกร่ง กล้า สนามที่ 9) ซึ่งเป็นงานวิ่งวิบาก ลงคลอง มุดฟาง ไต่เชือก ทำเอาเหนื่อยหมดแรงแล้วก็เลอะเต็มตัว แถมกว่าจะกลับบ้านก็ปาไป 4 ทุ่มเลยหมดแรงเขียนบทความ ตอนนี้ยังเมื่อยล้าอยู่เลย ฮะฮะ


ที่มา: Nasa.gov


วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

ภารกิจสุดท้ายก่อนจะปลดวาง!! Cassini เข้าสู่ช่วง Grand Finale แล้ว


          บทความนี้อาจจะมาช้าไปสักนิด แต่ก็ยังดีกว่าไม่มาเนอะ เนื่องจากยานอวกาศแคสซินีได้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของภารกิจสำรวจดาวเสาร์ที่เรียกกันว่า Grand Finale ก่อนจะปลดระวางภารกิจแล้วก็พุ่งลงเข้าไปสัมผัสดาวเสาร์จนไหม้เป็นผุยผง ก่อนหน้าจะไปดูรายละเอียดเรามาทำความรู้จักกับยานอวกาศลำนี้กันก่อนดีกว่าเนอะ

          ยานอวกาศแคสซินีเป็นยานอวกาศร่วมระหว่างนาซากับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศอิตาลี (ASI) เพื่อศึกษาดาวเสาร์และดาวบริวาร มีกำหนดการปฏิบัติภารกิจนาน 20 ปี ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี 2540 ใช้เวลาเดินทางรอนแรมในห้วงอวกาศอันมืดมิดอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายนานถึง 7 ปี จนในที่สุดก็เข้าสู่วงโคจรของดาวเสาร์ในปี 2547 ตัวยานได้รับพลังงานโดยการเปลี่ยนความร้อนจากการสลายกัมมันตรังสีของพลูโตเนียมให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากยานแคสสินีทำให้เรารู้ว่าแต่ละบริเวณของดาวเสาร์ไม่ได้หมุนรอบตัวไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากบรรยากาศของดาวเสาร์มีพายุหมุนซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพายุเฮอร์ริเคนบนโลก


          หลังจากยานอวกาศแคสซินีได้โคจรรอบดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์เป็นครั้งสุดท้ายในเวลา 23:08 น. ของวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา (ซึ่งตรงกับช่วงบ่ายของวันที่ 22 เมษายนตามเวลาของบ้านเรา) ณ ความสูง 979 กิโลเมตรห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ ยานอวกาศแคสซินีก็ได้ส่งภาพถ่ายทะเลสาปที่มีไฮโดรคาร์บอนเป็นองค์ประกอบกลับมาที่โลก ก่อนจะเข้าสู่ช่วง Grand Finale ภารกิจสุดท้ายก่อนจะจบตำนานการเดินทางอันยาวนานถึง 20 ปี

Grand Finale


          Grand Finale ช่วงสุดท้ายของการปฏิบัติภารกิจคือการโคจรระหว่างวงแหวนกับดาวเสาร์จำนวน 22 รอบ ซึ่งจะกินระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน - 15 กันยายน 2560 ก็ประมาณ 5 เดือน การจะโคจรรอบดาวเสาร์ในระยะห่างดังกล่าวจำเป็นจะต้องใช้ความเร็วสูงเพียงพอ ถ้าเร็วเกินไปก็จะหลุดออกจากวงโคจรที่กำหนดไว้ แต่ถ้าช้าเกินไปก็โบกมือบ๊ายบายได้เลย เพราะยานจะถูกแรงดึงดูดของดาวเสาร์ดึงลงไปยังพื้นผิว ซึ่งยานจะอาศัยแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ไททันเหวี่ยงให้มีความเร็วมากถึง 860.5 เมตรต่อวินาทีเพื่อเปลี่ยนเส้นทางไปโคจรในระยะใกล้

          หลังจากเปลี่ยนเส้นทางไปโคจรรอบดาวเสาร์ในระยะใกล้แล้ว ยานแคสซินีจะทำการส่งข้อมูลภาพถ่ายดาวเสาร์ในระยะใกล้กลับมาให้เราได้ชมกันในวันที่ 27 เมษายน 2560 ซึ่งถือว่าเป็นภาพถ่ายในระยะใกล้ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจมา และในวันที่ 15 กันยายน 2560 ยานแคสซินีก็จะทำการลดความเร็วแล้วพุ่งตกลงไปบนดาวเสาร์เป็นการปิดฉากภารกิจสำรวจอันยาวนานถึง 20 ปี


           เหตุผลที่นาซาต้องส่งยานแคสซินีไปโหม่งดาวเสาร์ก็เพราะว่าเอนเซลาดัสดวงจันทร์ของดาวเสาร์มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต นาซาจึงมีโครงการจะส่งยานไปสำรวจว่าเอนเซลาดัสจะมีชีวิตอาศัยอยู่หรือเปล่า ถ้าเกิดปล่อยให้ยานแคสซินีที่ปลดระวางแล้วลอยเท้งเต้งอยู่แถวนั้นอาจจะลอยไปชนเข้ากับเอนเซลาดัส แล้วทำให้แบคทีเรีย, จุลินทรีย์, ไวรัส หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ติดมากับยานหลุดออกไปปนเปื้อนกับสภาพแวดล้อมบนเอนเซลาดัส พอส่งยานไปสำรวจแล้วเจอสิ่งมีชีวิต เจ้าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นอาจจะเป็นพวกแบคทีเรียจากโลกของเราเองก็ได้ เพราะงั้นเลยต้องสั่งให้ยานแคสซินีโหม่งดาวเสาร์เพื่อให้ถูกทำลายจนไม่หลงเหลือซากปนเปื้อนอะไรอีก

          เพื่อน ๆ สามารถเช็คตำแหน่งล่าสุด, เวลาในการปฏิบัติภารกิจ และเวลาที่เหลืออยู่ของยานแคสซินีได้ ที่นี่


ที่มา: Nasa.gov


วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

DeepEye แอปพลิเคชันตรวจโรคเบาหวานขึ้นตาฝีมือคนไทยคว้ารางวัล Grand Prix จากเจนีวา


          นับเป็นข่าวดีสำหรับชาวไทย เมื่อทีมจักษุแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พัฒนานวัตกรรมตรวจโรคเบาหวานขึ้นตาในผู้สูงอายุด้วยโปรแกรมมือถือ "DeepEye Application" และสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศสิ่งประดิษฐ์ ถ้วยรางวัลเกียรติยศอันดับ 1 ผลงานสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ในงาน 45th International Exhibition of Inventions ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มีนาคม - 2 เมษายน พ.ศ. 2560 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

          ทีมพัฒนาประกอบด้วย รศ.นพ.ศักดิ์ชัย วงศกิตติรักษ์, รศ.ดร.จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต และผศ.นพ.ณวพล กาญจนารัณย์ โดย DeepEye จะใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ในการประมวลผลภาพถ่ายจอตาของผู้ป่วยและประเมินความเสี่ยงที่จะตาบอด


          นวัตกรรมดังกล่าวจะใช้การทำงานร่วมกันของอุปกรณ์ 3 อย่าง ได้แก่ กล้องถ่ายรูปจอประสาทตาแบบพกพา, โทรศัพท์มือถือ (ที่ติดตั้งแอปพลิเคชัน DeepEye) และเครื่องเซิร์ฟเวอร์ เมื่อมีการถ่ายภาพจอตาจะทำการอัพโหลดรูปเข้าไปในมือถือโดยอัตโนมัติ จากนั้นแอปพลิเคชันจะส่งรูปไปที่เซิร์ฟเวอร์ ซึ่งปัญญาประดิษฐ์ก็จะทำการประมวลผลและแจ้งผลกลับมาที่แอปพลิเคชัน สามารถตรวจคัดกรองและจำแนกภาพถ่ายจอตาได้ 3 ประเภทใหญ่ ได้แก่
  • ปกติ (Normal)
  • มีเบาหวานขึ้นจอตา ( Diabeticretinopathy: DR)
  • เป็นโรคอื่น (Other Diseases)
ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีเบาหวานขึ้นตาหรือ DR ก็สามารถระบุระดับความรุนแรงของโรคออกเป็น 4 ระดับไล่เรียงตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงระดับรุนแรงถึงขั้นมีเส้นเลือดเกิดใหม่ ซึ่งเป็นระยะอันตรายที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงตาบอดได้มากที่สุด


          ปัจจุบันแอปพลิเคชัน DeepEye มีความแม่นยำอยู่ที่ 95% หากมีการเก็บข้อมูลภาพถ่ายจอตามากขึ้น จะสามารถเพิ่มความแม่นยำให้อยู่ที่ 99% ซึ่งเป็นระดับที่มาตรฐานสากลยอมรับ โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีก 6 เดือน หลังจากนั้นก็จะเสนอ สปสช. ให้ใช้ในโรงพยาบาลชุมชนทั่วไทย

          นวัตกรรมชิ้นนี้สร้างขึ้นมาเพื่อป้องกันภาวะตาบอดจากโรคเบาหวานขึ้นตาในผู้สูงอายุ โดยข้อมูลล่าสุดประเทศไทยมีผู้ป่วยเบาหวานจำนวนกว่า 7 ล้านคน ในจำนวนนี้มีปัญหาโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา 10% ซึ่งจักษุแพทย์มีน้อย ทำให้การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขึ้นตาทำได้ยาก กว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ก็อยู่ในระยะรุนแรงที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะตาบอดแล้ว นอกจากนี้แอปพลิเคชัน DeepEye ยังได้รับความสนใจจากแพทย์สวิสและ Google อีกด้วย

          ถือเป็นบทความแรกที่เขียนข่าวคนไทยเลยนะเนี่ย ยังไงก็ขอแสดงความยินดีกับทีมที่ชนะด้วยนะครับ หวังว่านวัตกรรมนี้จะช่วยคัดกรองผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงให้ได้รับการรักษาทันท่วงที ส่วน (หนึ่งใน) วิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน เพื่อน ๆ สามารถอ่านได้ที่บทความ ปัจจัยที่ทำให้รู้สึกอยากขนมหวาน กับบทความ วิธีต่อสู้กับความอยากขนมกินเล่น


ที่มา: Bangkokbiznews.com


วิธีต่อสู้กับความอยากขนมกินเล่น


          ในบทความที่แล้วได้กล่าวถึง ปัจจัยที่ทำให้รู้สึกอยากกินขนม ไปแล้ว ซึ่งก็น่าจะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจสาเหตุที่ทำให้เราอยากกินขนมแล้วล่ะ พอเรารู้สาเหตุก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ทำให้ร่างกายร้องเรียกหาขนมได้ แต่ในความเป็นจริงแค่หลีกเลี่ยงอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ ตามตำราพิชัยสงครามกล่าวว่า "แค่หลบหนีอย่างเดียวไม่ทำให้เราเอาชนะศัตรูได้" (มีกล่าวแบบนี้จริงเร้อ ฮะฮะ) นอกจากหลีกเลี่ยงแล้วเราต้องสู้กลับให้เป็น เพราะงั้นเรามาดูวิธีต่อสู้เพื่อลดความอยากขนมกินเล่นกันเถอะ

1. ให้ร่างกายได้รับเชื้อเพลิงดีตลอดทั้งวัน

          หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความอยากของหวานก็คือการอดอาหาร เพราะงั้นเราก็อย่าอดอาหารซะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกินอะไรก็ได้นะ ถ้ากินพวกข้าวขาหมู, ข้าวมันไก่บ่อย ๆ มีหวังแคลอรี่พุ่งสูงจนร่างกายเก็บไปเป็นไขมันแน่นอน ให้เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายพวกสลัดผักหรืออาหารที่มีการปรุงแต่งน้อยเพื่อไม่ให้ได้รับแคลอรี่มากจนเกินไป นอกจากนี้ก็ไม่ควรทิ้งระยะห่างระหว่างมื้อนานเกินไป แบ่งกินเป็นมื้อย่อย ๆ หลายมื้อต่อวันจะทำให้ท้องอิ่มอยู่เรื่อย ๆ และการเพิ่มโปรตีนลงไปในแต่ละมื้อก็จะทำให้อิ่มท้องได้นานช่วยลดความอยากขนมหวานได้

          ถ้ารู้สึกอยากขนมกินเล่นถึงขั้นอดใจไม่ไหว ให้เลือกกินขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการแทน เช่น แครกเกอร์ธัญพืช, ถั่ว, ผลไม้สด, โยเกิร์ตรสธรรมชาติราดด้วยผลไม้ หรือดาร์กช็อกโกแลตที่มีโกโก้ 70% ขึ้นไป เป็นต้น ถึงสิ่งสำคัญจะเป็นการเลือกกินของที่มีประโยชน์ แต่ก็อย่าเข้มงวดกับตัวเองมากเกินไป ควรปล่อยให้ร่างกายได้สัมผัสของหวานบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อไม่ให้อดทนไม่ไหวตบะแตกไปซะก่อน (ฮา)

2. อย่าพึ่งพาเครื่องดื่มลดน้ำหนัก

          เครื่องดื่มส่วนใหญ่จะใส่น้ำตาลเป็นจำนวนมากเพื่อเพิ่มความหวาน แต่พอกระแสรักสุขภาพเริ่มมา ก็เริ่มมีการรณรงค์ให้กินน้ำตาลน้อยลง บริษัทเครื่องดื่มจึงผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ใส่น้ำตาล แต่ใช้สารให้ความหวานแทน แต่เพื่อน ๆ ทราบหรือเปล่าว่าเจ้าสารให้ความหวานเนี่ยตัวอันตรายเลย ทำให้เรากินมากเกินไปส่งผลให้อ้วนลงพุง นอกจากนี้สารให้ความหวานยังทำให้ร่างกายของเราต่อต้านฮอร์โมนอินซูลินที่ช่วยนำพาน้ำตาลรวมทั้งสารให้พลังงานอื่น ๆ ออกจากในกระแสเลือด พอเราขาดฮอร์โมนอินซูลินก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง สุดท้ายก็เอวังกลายเป็นโรคเบาหวาน เพราะฉะนั้นเวลาที่หิวน้ำก็เลือกเครื่องดื่มให้ดี ๆ หน่อยนะจ๊ะ

3. ปรับเปลี่ยนรสชาติใหม่

          การปรับเปลี่ยนรสชาติให้เสพติดขนมหวานน้อยลงทำได้โดยการเปลี่ยนมากินของจากธรรมชาติให้มากขึ้น เช่น เปลี่ยนการกินขนมหวานมากินผลเบอร์รี่ราดด้วยดาร์กช็อกโกแลตที่เพิ่มโปรตีนและไขมันดีด้วยเนยถั่ว เป็นต้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเปลี่ยนการกินของที่ผ่านการปรุงแต่งมากินของที่มาจากธรรมชาติแทน วิธีนี้จำเป็นต้องใช้ความอดทนและความมีวินัย แต่ถ้าทำเป็นประจำได้ เพื่อน ๆ ก็จะมีความอยากขนมกินเล่นน้อยลง

4. หาผู้สนับสนุน

          การใช้ชีวิตในสังคมแน่นอนว่าจะต้องพบปะข้องเกี่ยวกับคนอื่น ๆ เช่น ครอบครัว, เพื่อน หรือคนรัก หนึ่งในวิธีควบคุมความอยากขนมกินเล่นก็คือการได้รับแรงสนับสนุนหรือแนวร่วมจากบุคคลรอบตัวเหล่านี้นั่นเอง ในวัยทำงานมักจะหาแรงสนับสนุนได้จากเพื่อนร่วมงาน (อันนี้ประสบการณ์ตรงเลย ที่ผมเริ่มออกกำลังกายเริ่มวิ่งก็เพราะมีพี่ที่ทำงานกำลังจะลดน้ำหนัก เลยมีคนให้คุยเรื่องเดียวกันแล้วก็ออกกำลังกายไปด้วยกัน) ส่วนในเด็ก ๆ ก็อยู่ในความดูแลของผู้ปกครองแล้วล่ะ (ฮา)

5. กินมังสวิรัติบ้าง

          การกินอาหารมังสวิรัติช่วยลดความหิวและความอยากขนมกินเล่นได้ เพราะอาหารมังสวิรัติส่วนใหญ่ปรุงจากผักและผลไม้ซึ่งก็เป็นกการกินอาหารที่มาจากธรรมชาตินั่นเอง นอกจากนี้กินอาหารมังสวิรัติก็ยังช่วยลดน้ำหนักและเป็นการดูแลสุขภาพที่ดีอีกวิธีหนึ่งด้วย

6. ให้ความสนใจกับร่างกายของตัวเอง

          ความเครียดเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อยากกินขนมหวาน เพราะงั้นก็ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเครียดจนเกินไป (ยิ่งเครียดยิ่งกิน) ให้ลองนั่งสมาธิหรือออกกำลังกาย ทั้งสองวิธีนี้ช่วยลดความเครียดแล้วยังทำให้ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมนออกมา ซึ่งนอกจากจะช่วยคืนความอ่อนเยาว์ให้แล้ว (ออกกำลังกายบ่อย ๆ แล้วหน้าจะดูเด็กนะจ๊ะ อันนี้ก็ประสบการณ์ตรงเหมือนกัน ถูกทักว่าหน้าเด็ก ฮะฮะ) โกรทฮอร์โมนยังช่วยในการนอนหลับทำให้ร่างกายได้พักผ่อน เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะพร้อมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความสดชื่น แต่อย่าหักโหมออกกำลังกายมากนัก เดี๋ยวจะอยากกินของหวานชดเชย (ยิ่งเหนื่อยยิ่งอยากกินของหวาน)


          เป็นยังไงกันบ้างครับ วิธีเหล่านี้ทำได้ไม่ยากเลย...มั้ง แต่เอาเข้าจริงจะให้ตัดขาดขนมหวานไปเลยก็คงยากไปหน่อย (ชีวิตต้องการความหวาน) เอาเป็นว่ากินบ้างแต่พอควรดีกว่าเนอะ ฮะฮะ


ที่มา: Clevelandclinic.org


วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

3 ปัจจัยที่ทำให้เราอยากกินขนม


          เพื่อน ๆ เคยเป็นกันหรือเปล่าครับ กับอาการอยากกินของกินเล่น ไม่ว่าจะเป็น ขนมหวาน มันฝรั่งทอด ฯลฯ ซึ่งก็รู้อยู่ว่าไม่ควรกิน แต่ใจเจ้ากรรมก็ดั๊นอยากกินเสียเหลือเกิน ไม่รู้ว่าความอยากมันมาจากไหน พอรู้ตัวอีกทีมือก็คว้าหมับไปที่ขนมแล้ว สุดท้ายก็มาสำนึกเสียใจเอาตอนที่ขึ้นชั่งน้ำหนักแล้วพบว่าตัวเลขพุ่งขึ้นสูงกว่าครั้งที่แล้ว ถ้าเพื่อน ๆ ไม่อยากเป็นอย่างในข้อความข้างต้น เรามาดูกันดีกว่าว่าปัจจัยที่ทำให้เรากระหายอยากกินขนมมีอะไรกันบ้าง

1. การปล่อยให้ตัวเองหิว

          หากให้เปรียบเทียบร่างกายของมนุษย์ก็คงเปรียบได้กับรถยนต์ เพราะร่างกายของเราต้องการเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้วเชื้อเพลิงที่ว่านั่นคืออะไรกันล่ะ? เชื้อเพลิงที่ร่างกายของเราต้องการก็ได้แก่ คาร์โบไฮเดรตที่มีเส้นใยสูง, โปรตีนไขมันต่ำ และไขมันดีเป็นต้น นอกจากนี้ร่างกายเรายังต้องการสมดุลในพลัง เอ๊ยไม่ใช่ สมดุลของพลังงานที่รับเข้าไปกับพลังงานที่ใช้ออกมา ซึ่งถ้าเรากินพลังงานเข้าไปมากแต่ใช้ออกมาน้อย พลังงานที่เหลือก็จะถูกเก็บอยู่ในรูปของไขมัน

          ถ้าเพื่อน ๆ กำลังไดเอทด้วยวิธีงดอาหาร, กินให้น้อย หรือเว้นช่วงระหว่างมื้ออาหารนานเกินไป ร่างกายของเราที่เริ่มขาดพลังงานก็จะส่งสัญญาณความหิวออกมา กระตุ้นให้เพื่อน ๆ กระหายเชื้อเพลิงที่สามารถย่อยให้เกิดพลังงานได้อย่างรวดเร็วอันได้แก่ธัญพืชขัดสีหรือของหวาน ซึ่งก็หมายถึงการปล่อยให้ตัวเองหิวจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากขนมกินเล่นนั่นเอง (....."อย่าให้ความหิว ทำให้คุณเปลี่ยนไป ถึงเวลารองท้อง ถึงเวลา Snickers" เอ๊ยไม่ใช่สิ นี่มันขนมกินเล่น)

2. ไม่รู้ว่าของกินเล่นทำให้เสพติดได้อย่างไร

          สมองของมนุษย์เราชอบที่จะเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ซึ่งการกินขนมหวานเองก็ทำให้เรามีความสุข แต่คำถามคือทำไมการกินขนมหวานถึงทำให้เรามีความสุขได้ล่ะ ถ้าตอบง่าย ๆ เลยก็คือขนมหวานมีรสชาติดี แต่ถ้าตอบให้ลึกลงไปอีกหน่อยก็เป็นเพราะน้ำตาลที่อยู่ในขนมหวานจะไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดพามีนที่ทำให้เรารู้สึกดี ส่งผลให้เราต้องการที่จะสัมผัสความรู้สึกดีแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

          ยิ่งเราต้องการรู้สึกดีเรื่อย ๆ เราก็จะยิ่งกินมากขึ้น เมื่อเรากินมากขึ้นก็จะทำให้อ้วนขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้ที่อ้วนจะมีตัวรับโดพามีนน้อยลง ถ้าตัวรับโดพามีนน้อยก็หมายความว่าเราจะได้รับความสุขน้อยลง เราก็จะยิ่งกิน กิน กิน กิน เพื่อที่จะได้สัมผัสความสุข สุดท้ายก็กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่วนต่อไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ

3. ไม่ฟังร่างกายของตัวเอง

          การไม่ฟังร่างกายของตัวเองหมายถึงการที่เราทำให้ร่างกายของเราอยู่นอกเหนือจากสภาวะปกติ เช่น เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยเกินไป ก็จะมีแนวโน้มที่เราจะหันไปหาของหวานหรือของที่ทำให้เราได้รับพลังงานมากขึ้น หรือเมื่อเรารู้สึกเครียดมากเกินไป ต่อมหมวกไตของเราก็จะทำงานหนักเพื่อสร้างฮอร์โมนออกมาต่อสู้กับความเครียด ซึ่งจะส่งผลให้เรามีอาการอยากกินของหวานหรืออาหารเค็ม ๆ ได้

          สุดท้ายก็คือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป ซึ่งเรามาดูที่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกันก่อนดีกว่า ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดจากการกินอาหารร้อยและออกกำลังกายมากไป ซึ่งจะทำให้ร่างกายรู้สึกเครียด หิว ซึมเศร้า เหนื่อยล้าแล้วก็ส่งผลต่อต่อมหมวกไตเหมือนอย่างที่ได้อธิบายไปเมื่อสักครู่ ส่วนภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกิดจากการกินอาหารมากและออกกำลังกายน้อยไป ก็จะทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า อยากอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ส่งผลเหมือนเวลาที่เราเหนื่อยมากเกินไป


          เมื่อเพื่อน ๆ เข้าใจปัจจัยที่ทำให้รู้สึกอยากกินขนมแล้ว เพื่อน ๆ ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อให้ห่างไกลจากการเสพติดของหวาน เลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายให้พอดี แล้วเราก็จะมีร่างกายแข็งแรงใช้ชีวิตยืนยาวไปจนถึงวันที่มนุษยชาติเดินทางไปถึงดาวอังคารได้ (ฮา)


ที่มา: Clevelandclinic.org


วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

นักวิจัยค้นพบหนอนที่สามารถกินพลาสติกได้!!


          ในปัจจุบันเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวไกลได้สร้างสรรค์สิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิตของมนุษย์เราอย่างมากมาย หนึ่งในสิ่งของเหล่านั้นก็คือ "พลาสติก" แต่เพื่อน ๆ รู้หรือเปล่าว่าพลาสติกนั้นใช้เวลาเป็นร้อย ๆ ปีในการย่อยสลาย ถ้าอยากกำจัดอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการเผา ก็จะก่อมลพิษทางอากาศและสาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งตอนนี้ที่ประเทศไทยเองก็ร้อนตับแตกอยู่แล้วก็เถอะ แต่ท่ามกลางความมืดมิดในการกำจัดพลาสติก ได้มีแสงเล็ก ๆ เปล่งประกายขึ้นมา เมื่อนักวิจัยได้ค้นพบสิ่งที่อาจเป็นกุญแจในการกำจัดพลาสติกหรือก็คือเจ้าหนอนน้อยตัวเล็ก ๆ นั่นเอง

          นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Institute of Biomedicine and Biotechnology of Cantabria (IBBTEC) ของสเปนและมหาวิทยาลัย Cambridge ของสหราชอาณาจักรได้ค้นพบว่าเจ้าหนอนน้อยตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน Galleria mellonella มีความสามารถในการย่อยสลายโพลิเอธิลีนซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในถุงพลาสติก โดยเจ้าหนอนน้อยสามารถเจาะถุงพลาสติกเป็นรูได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าแบคทีเรียย่อยพลาสติกที่ค้นพบเมื่อเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว

          เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าหนอนผีเสื้อสามารถย่อยสลายพลาสติกได้ นักวิทยาศาสตร์ได้ให้หนอนผีเสื้อกินถุงพลาสติกเข้าไปแล้วก็จัดการตัดฉับ (!) ผ่าหนอนออกมาดู (โหดชะมัด) แล้วก็พบว่าสายโพลิเมอร์ในพลาสติกถูกย่อยสลายไป จึงสรุปได้ว่าหนอนผีเสื้อสามารถย่อยพลาสติกได้จริง

          แต่เดี๋ยวก่อน ปัจจุบันนี้เราผลิตถุงพลาสติกออกมาประมาณ 80 ล้านตันทั่วโลก ครั้นจะเพาะพันธุ์ตัวหนอนให้มากินถุงพลาสติกก็คงจะไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก (ลองจินตนาการถึงหนอนน้อยเป็นล้าน ๆ ตัวเติบโตเป็นผีเสื้อบินว่อนทั่วโลกดูสิ ฮา) นักวิจัยจึงได้วางแผนค้นหาความลับที่ซุกซ่อนอยู่ในหนอน ซึ่งความสามารถในการย่อยพลาสติกของหนอนอาจจะมาจากสารในน้ำลายหรือแบคทีเรียบางชนิดก็เป็นได้

          หวังว่านักวิทยาศาสตร์หัวใสของโลกจะสามารถไขปริศนาตัวต่อพันปี เอ๊ยไม่ใช่ ไขปริศนาตัวหนอนนี้ได้นะ เพื่อที่จะได้นำไปใช้ลดขยะของโลกให้น้อยลง


ที่มา: Cnet.com


Google ประกาศรายชื่อแอปพลิเคชันที่เข้ารอบสุดท้ายของ Google Play Awards ปี 2560


          กลับมาอีกครั้งสำหรับการจัดอันดับแอปพลิเคชันยอดเยี่ยมของทาง Google ที่เรียกว่า Google Play Awards โดยครั้งนี้จะประกาศผลในวันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2560 เวลาประมาณ 06:30 น. (ตามเวลาของบ้านเรา) ภายในงาน Google I/O


          Google Play Awards ครั้งนี้แบ่งแอปพลิเคชันออกเป็น 12 หมวดหมู่ โดยคัดเลือกจากแอปพลิเคชันที่ได้คะแนนสูง, ประสิทธิภาพของแอปพลิเคชัน และความทันสมัยที่ต้องเปิดตัวหรือมีการอัปเดตตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่แล้ว ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปดูหมวดหมู่ทั้งหมดได้ที่ Google Play

รายชื่อแอปพลิเคชันเข้าชิง Google Play Awards

Standout Indie

Standout Startup
Best Android Wear
Best TV Experience

Best VR Experience

Best AR Experience

Best App for Kids

Best Multiplayer Game

Best App
Best Game
Best Accessibility

Best Social Impact


ที่มา: Android Developers Blog


วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

ค้นพบ LHS 1140b ดาวเคราะห์นอกระบบที่อาจจะอยู่อาศัยได้


          ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคอันน่ามหัศจรรย์ที่เทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ก้าวกระโดดอย่างมากเมื่อเทียบกับสัก 20 ปีก่อนที่เรายังใช้โทรศัพท์ซิมเปี้ยนกันอยู่ นักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่การจะค้นพบโลกที่สามารถอยู่อาศัยได้นั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะไม่ใช่ดาวทุกดวงที่จะมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการดำรงชีวิต และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หรือนักดาราศาสตร์รู้สึกตื่นเต้นเวลาค้นพบดวงดาวที่ "อาจจะ" อยู่อาศัยได้เช่นดาว LHS 1140b ดวงนี้

          ดาว LHS 1140b ถือเป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกหรือที่เรียกกันว่า "Super Earth" ซึ่งมีมวลมากกว่าโลกถึง 7 เท่า (โลกมีมวลประมาณ 5.98 x 1024 กิโลกรัม เพราะงั้นดาวดวงนี้ก็มีมวลประมาณ 41.86 x 1024 กิโลกรัม) แต่กลับมีขนาดมากกว่าโลกแค่ 1.4 เท่าเอง แสดงว่าดาวดวงนี้มีความหนาแน่นสูง และเป็นไปได้ว่าแกนกลางของดาวจะเป็นเหล็กหนาแน่น

          จุดที่น่าสนใจคือเจ้าดาว LHS 1140b เนี่ยโคจรอยู่ในเขตอาศัยได้รอบ ๆ ดาวฤกษ์แม่ที่เป็นดาวแคระแดงเรียกว่า LHS 1140 ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Cetus (กลุ่มดาววาฬ) ห่างออกไปจากโลกประมาณ 40 ปีแสง .....ว่าแต่ 40 ปีแสงเนี่ย เป็นระยะทางที่ ค้นพบระบบดาว TRAPPIST-1 นี่นา หรือว่านี่จะเป็นระยะเหมาะสมสำหรับการตามหาดาวต้องสงสัยว่าอาจจะมีสิ่งมีชีวิตล่ะเนี่ย (ฮา)..... อ้าว เผลอนอกเรื่อง กลับมาเรื่องเดิม ดาว LHS 1140b โคจรรอบดาวแม่ในระยะที่ใกล้มาก ใกล้มากกว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ถึง 10 เท่าเลย ซึ่งในระยะนี้ความจริงจะต้องถูกดาวฤกษ์แผดเผาทั้งชั้นบรรยากาศและน้ำไปหมดแล้ว แต่เป็นเพราะดาวฤกษ์มีขนาดเล็กและเย็นกว่าดวงอาทิตย์ จึงทำให้ดาว LHS 1140b ได้รับแสงจากดาวฤกษ์เพียงแค่ครึ่งเดียวของที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์

          จากการตรวจสอบทำให้คาดการณ์ว่าดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้น่าจะมีอายุราว ๆ 5 พันล้านปี โดยในอดีตที่ดาวฤกษ์ยังอายุน้อยอาจจะมีความแปรปรวนมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เช่น มีการระเบิดพายุสุริยะที่ทำลายชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งทีมนักวิจัยคาดหวังว่าดาวเคราะห์จะสามารถเก็บรักษาชั้นบรรยากาศเอาไว้ได้ และจะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่จะเริ่มใช้งานในปีพ.ศ. 2567 ของ ESO ในการศึกษาดาวเคราะห์ต่อไป

          หวังว่าอีกไม่นานจะมีข่าวของดาวเคราะห์ดวงนี้ออกมาอีกนะ แต่ไม่อยากให้เป็นข่าวแบบเดียวกับ ข่าวร้ายของระบบดาว TRAPPIST-1 เลย


ที่มา: Sciencealert.com


วันศุกร์ที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2560

ดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 โคจรผ่านโลก


          เมื่อวันที่ 19 - 20 เมษายน 2560 ที่ผ่านมา ในอวกาศอันกว้างใหญ่เหนือโลกของเราเกิดปรากฏการณ์ดาวเคราะห์น้อยโคจรผ่านโลกเราในระยะใกล้ แต่เพื่อน ๆ ไม่ต้องห่วงว่ามันจะพุ่งเข้าชนโลกหรอก เพราะถ้ามันจะชนโลกจริง ป่านนี้คงไม่มีบทความนี้แล้วมั้ง (ฮา)


          ดาวเคราะห์น้อยที่รู้จักกันอย่างเป็นทางการว่า 2014 JO25 นี้ถูกค้นพบครั้งแรกในเดือนพฤษภาคมปี 2014 โดยนักดาราศาสตร์จากโครงการสังเกตการณ์วัตถุใกล้โลกที่นาซ่าร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแอริโซนาจัดตั้งขึ้น ซึ่งเจ้าดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดประมาณ 620 เมตรนี่ได้โคจรผ่านโลกเราไปด้วยระยะห่าง 1.8 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 4.6 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์ ถือเป็นวัตถุที่โคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดในรอบ 400 ปี และคาดว่ามันจะโคจรเข้ามาใกล้โลกในอีก 500 ปีข้างหน้า


          จานรับดาวเทียมขนาด 70 เมตรของนาซาจับภาพดาวเคราะห์น้อย 2014 JO25 ได้ (เมื่อนำภาพที่จับได้มาทำให้เคลื่อนไหวก็จะได้ตามคลิปข้างบนเนี่ยแหละ) ซึ่งภาพแสดงดาวเคราะห์น้อยที่มีลักษณะคล้ายถั่วลิสงหมุนรอบทุก ๆ 5 ชั่วโมง โดยภาพมีความละเอียดสูงถึง 7.5 เมตรต่อพิกเซล

          ถ้าในอีก 500 ปีข้างหน้าเจ้า 2014 JO25 โคจรมาทับเส้นทางของโลกละก็..... ไม่อยากจะคิดเล้ยยย แต่ก็นะ อีกตั้ง 500 ปีข้างหน้าแน่ะ ถึงตอนนั้นถ้ามนุษย์ไม่สูญพันธุ์ไปซะก่อนก็คงจะมีเทคโนโลยีที่สามารถป้องกันได้แล้วมั้ง ไม่ก็สร้างกันดั้ม ขับขึ้นไปทำลายก่อนที่มันจะมาชนโลก (ฮา)


ที่มา: Sciencealert.com , Nasa.gov


วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

อะโวคาโดช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด


          นักวิจัยทำการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของอะโวคาโดพบว่า อะโวคาโดอาจช่วยในรักษาโรคในกลุ่ม Metabolic Syndrome หรือก็คือกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน, โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ได้แก่ โรคอ้วน, High-Density Lipoprotein (HDL) Cholesterol (หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าไขมันดี) ระดับต่ำ, ไขมันในเลือดสูง, น้ำตาลในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ คนไหนมีความผิดปกติเหล่านี้สัก 3 ข้อก็ขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะคุณไม่ได้ไปต่อ เอ๊ยไม่ใช่ เพราะนั่นหมายถึงเพื่อน ๆ ได้เป็นโรคในกลุ่ม Metabolic Syndrome เรียบร้อยแล้ว

          วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันหรือรักษาโรคในกลุ่ม Metabolic Syndrome ก็คือการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต หรือพูดง่าย ๆ ก็คือกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งบทความนี้พูดถึงอะโวคาโดนั่นก็หมายถึงเจ้าผลไม้ตัวนี้สามารถช่วยลดความผิดปกติที่กล่าวมาแล้วได้นั่นเอง

          ในการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 67 คน โดย 30 คนมีสุขภาพที่แข็งแรงและอีก 37 คนมีภาวะไขมันในเลือดสูง หลังจากรับประทานอาหารเสริมที่สกัดจากอะโวคาโดเป็นเวลา 1 สัปดาห์พบว่าไขมันเลว (LDL-Cholesterol) และไขมันในเส้นเลือดของทั้งสองกลุ่มมีการลดลง จึงสรุปได้ว่าอะโวคาโดเป็นผลไม้มีผลต่อระดับไขมันดี (HDL-Cholesterol), ไขมันเลว (LDL-Cholesterol) และไขมันในเส้นเลือด

          จากการศึกษาหนึ่งพบว่าอะโวคาโดเป็นประโยชน์ในการลดน้ำหนัก โดยผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ถ้ากินอะโวคาโดวันละ 1 ลูกเป็นเวลา 6 สัปดาห์ น้ำหนักตัว, ดัชนีมวลกาย (BMI) และเปอร์เซ็นต์ของไขมันในร่างกายจะลดลงอย่างมาก

          นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการกินอะโวคาโดเพื่อลดความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอะโวคาโดอาจช่วยลดการอุดตันหรือการแข็งของหลอดเลือดแดงได้

          สรุปว่าอะโวคาโดมีสรรพคุณที่ช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ลดระดับไขมันเลว เพิ่มระดับไขมันดี ลดเปอร์เซ็นต์ไขมัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่พูดมานั้นช่วยป้องกันความเสี่ยงของโรคในกลุ่ม Metabolic Syndrome ได้อย่างดีเลย .....ประโยชน์มากมายขนาดนี้ สงสัยต้องกินบ้างแล้วล่ะ


ที่มา: Medicalnewstoday.com


วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560

Google ปรับปรุง Google Earth ให้เราท่องโลกได้สวยงามยิ่งขึ้น


          Google ได้ทำปรับปรุง Google Earth ครั้งใหญ่ เปลี่ยนแปลงรูปโฉมให้ดูสวยสดงดงามมากยิ่งขึ้น เพิ่มเติมด้วยฟีเจอร์ใหม่ ๆ โดยการอัพเกรดครั้งนี้ทาง Google ใช้เวลาสร้างถึงสองปี เพื่อให้ทุกคนได้เห็นโลกในมุมมองที่สวยขึ้นและได้เรียนรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ แล้วจะรออะไรกันอยู่ล่ะ เราไปดูฟีเจอร์ใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามากันเล้ยยยยย


เปิดโลกให้กว้างด้วย Voyager



          Voyager (วอยเอจเจอร์) คือฟีเจอร์ที่ทาง Google ได้ร่วมมือกับรายการสารคดี นักวิทยาศาสตร์ และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรชั้นนำของโลกในการเล่าเรื่องสถานที่ต่าง ๆ เช่น ข้อมูลแหล่งที่อยู่อาศัยของ Natural Treasures จากรายการสารคดี BBC Earth ที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าอันเป็นเอกลักษณ์ประจำสถานที่แต่ละแห่ง เป็นต้น ซึ่งทาง Google จะเพิ่มข้อมูลใหม่ ๆ เข้ามามากยิ่งขึ้น .....ว่าแต่ชื่อ Voyager เนี่ย คุ้น ๆ กันอ๊ะป่าวเอ่ย ใช่แล้ว เป็นชื่อของยานสำรวจอวกาศแบบไม่ใช้คนบังคับนั่นเอง

สำรวจและเรียนรู้ด้วย "I’m feeling lucky"



          ฟีเจอร์ค้นหาสถานที่แบบสุ่มด้วยการกดปุ่ม "I’m feeling lucky" เพื่อน ๆ สามารถเปิด Knowledge Card เพื่อเรียนรู้ประวัติเกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ และดูรูปภาพเพิ่มเติมได้ ไม่แน่นะเพื่อน ๆ อาจจะสุ่มได้เจอสถานที่ลึกลับที่ไม่เคยมีใครค้นพบมาก่อนก็ได้ (ฮา)

แบ่งปันสถานที่ด้วยภาพสามมิติ



          ฟีเจอร์ภาพสามมิติที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถมองสถานที่จากมุมใดก็ได้ (แต่ต้องซูมเข้าไปใกล้ ๆ หน่อย) และสามารถแชร์เป็นภาพโปสการ์ดได้ (เฉพาะในมือถือนะ ในคอมพิวเตอร์แชร์ได้แต่ลิงค์) ซึ่งจากที่ลองเล่นดูแล้วเหมือนจะยังมีภาพสามมิติไม่ครบทุกสถานที่นะ อย่างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิยังไม่มีภาพสามมิติเลย สงสัยต้องรออัปเดตต่อไปอีก

This is Home



          This is Home เป็นฟีเจอร์ที่จะช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถไปเยี่ยมชมบ้านของแต่ละวัฒนธรรมทั่วโลก โดยจะมีการเพิ่มรูปแบบบ้านเข้ามาทีหลัง

          ณ ปัจจุบันนี้ (19 เมษายน 2560) Google Earth เวอร์ชั่นใหม่สามารถใช้งานบน Google Chrome และในแอปพลิเคชันบนมือถือ Android เท่านั้น ส่วนระบบปฏิบัติการ iOS และเว็บเบราว์เซอร์ตัวอื่น ๆ ก็อดใจรอต่อไปอีกนิดนะจ๊ะ


ที่มา: Blog Google


วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

Android Pay จับมือกับ Paypal มุ่งสู่ความสะดวกสบายในการชำระเงิน


          ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีกำลังเฟื่องฟู มีการคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ ออกมามากมายเพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น และได้มีการนำเทคโนโลยีทางด้านอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ช่วยในการชำระค่าสินค้าและบริการแทนเงินสดทำให้ผู้ซื้อสามารถเลือกซื้อสินค้าได้ง่ายกว่าเมื่อก่อนมาก เนื่องจากไม่จำเป็นต้องพกเงินสดให้เสี่ยงต่อการสูญหายหรือโดนปล้น

          Android Pay และ PayPal ต่างก็เป็นระบบจ่ายเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีผู้ใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยใน Android Pay  ผู้ใช้สามารถผูกบัญชีเข้ากับบัตรเครดิต เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ผ่านอุปกรณ์ Android ด้วย NFC (ซึ่งน่าจะอีกนานนนนนนกว่าจะได้ใช้ในไทย) ส่วน PayPal จะใช้ในการซื้อสินค้าหรือรับเงินและส่งเงินออนไลน์ ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ทาง Google จะผนวก PayPal ร่วมกับ Android Pay


          ผู้ใช้งาน PayPal จะสามารถเชื่อมต่อบัญชีเข้ากับ Android Pay ซึ่งจะเพิ่มช่องทางในการชำระเงินโดยการแตะด้วยอุปกรณ์ Android ที่มี NFC ในร้านค้า ผู้ใช้งานในสหรัฐฯ จะสามารถเชื่อมโยงบัญชี PayPal เพื่อใช้กับ Android Pay ได้ภายในสองสามสัปดาห์ถัดไป ส่วนผู้ใช้งานในประเทศไทยน่ะเหรอ.....รอกันต่อไป (ฮา)


ที่มา: Blog Google


วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

นักประสาทวิทยาค้นพบว่าพื้นที่ "Hot Zone" ในสมองมีการทำงานในขณะที่เราฝัน


          เรามีความเชื่อกันว่าการนอนหลับคือการปิดการทำงานของสมองเพื่อพักผ่อน สมองจะไม่ทำอะไรเลยตอนที่เรานอนหลับ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะสมองไม่ได้มีการทำงานแบบกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องหยุดพักเมื่อเกิดอาการเมื่อยล้า สมองคนเราทำงานด้วยไฟฟ้าเคมี ซึ่งแม้กระทั่งเวลานอน สมองของเราก็ยังคงทำงานอยู่

          จากงานศึกษาล่าสุด นักประสาทวิทยาเรียกพื้นที่ของสมองส่วนหลังที่มีการทำงานในขณะที่เรากำลังฝันอยู่ว่า "Hot Zone" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความฝันของเราก็เกิดขึ้นนอกระยะ Rapid Eye Movement Sleep (หรือเรียกว่า REM Sleep กินระยะเวลาประมาณ 20 - 25 % ของเวลานอนทั้งหมด ซึ่งเป็นระยะที่มีการทำงานของสมองสูงมาก มีการกรอกลูกตา และเกิดความฝัน) ด้วย แม้ว่าเราจะจำความฝันไม่ได้ก็ตาม

          ในการศึกษาได้มีการทำการทดสอบ 3 ครั้งกับอาสาสมัครทั้งหมด 46 คน ซึ่งจะต้องติดขั้วไฟฟ้า 256 ชิ้นทั่วทั้งหนังศรีษะและบางส่วนของใบหน้าเพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง โดยอาสาสมัครจะถูกปลุกขึ้นมาตอบคำถามที่นักวิจัยถาม

          ในการทดสอบครั้งแรก อาสาสมัครที่หลับแล้วเกิดความฝันคืออาสาสมัครคนที่สมองในส่วน "Hot Zone" มีการทำงานไม่ว่าจะเป็นการนอนในระยะ Rapid Eye Movement หรือในระยะ Non Rapid Eye Movement (หรือเรียกว่า NREM Sleep เป็นระยะที่ร่างกายจะอยู่ในความเงียบสงบ กล้ามเนื้อคลายตัว การตอบสนองต่อสิ่งเร้าจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ) ก็ตาม แสดงให้เห็นว่าการจะเกิดความฝันนั้นขึ้นอยู่กับว่าสมองบริเวณ "Hot Zone" นี้มีการใช้งานอยู่หรือไม่ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับระยะของการนอน

          การทดสอบครั้งที่สอง ให้อาสาสมัครรายงานเนื้อหาในความฝัน โดยเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าสมองแสดงความถี่สูงในสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ทำอยู่ในความฝัน เช่น ความฝันที่เกี่ยวข้องกับการพูดก็จะไปกระตุ้นให้สมองบริเวณเวอร์นิเก (Wernicke's area) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการรับรู้ภาษาและความเข้าใจทำงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความฝันจะใช้งานสมองแบบเดียวกับตอนตื่น ดังนั้นความฝันจึงมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในขณะที่กำลังตื่น

          การทดสอบครั้งที่สามจะทำการทดสอบสลับกัน โดยเป็นการทดสอบให้นักวิจัยทำนายว่าอาสาสมัครฝันหรือไม่ฝันโดยอาศัยผลจากการอ่านเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง ผลปรากฎว่านักวิจัยสามารถตอบได้ว่าอาสาสมัครฝันถูกถึง 91% และตอบว่าอาสาสมัครไม่ได้ฝันถูกถึง 81% จากจำนวนครั้งที่ตอบ

          จากการทดสอบทำให้เห็นว่าสมองของเรามีการทำงานอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลาเรานอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการนอนจะไม่มีประโยชน์นะ เวลาเรานอน ร่างกายจะนำสารอาหารที่ได้รับมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพราะงั้น "ห้ามอดนอน" กันนะจ๊ะ


ที่มา: Wisc.edu


นาซาเผยข้อมูลที่ค้นพบได้จากมหาสมุทรอีกสองแห่งนอกโลก


          เมื่อวันที่ 14 เมษาที่ผ่านมา (14 เมษายน 2560) นาซาได้แถลงข่าวรายละเอียดข้อมูลที่ค้นพบได้จากมหาสมุทรนอกโลก .....เพื่อน ๆ อ่านไม่ผิดหรอกครับ มหาสมุทรนอกโลกจริง ๆ เป็นมหาสมุทรที่อยู่ในระบบสุริยะของเรานี่แหละ นั่นก็คือ เอนเซลาดัส (Enceladus) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ และยูโรปา (Europa) ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งจากข้อมูลที่ค้นพบทำให้เจ้าดาวทั้งสองดวงนี้มีโอกาสที่จะเจอสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ (ข่าวที่แล้ว ๆ มาก็เหมือนจะเป็นแบบนี้ แต่ก็นั่นแหละ มนุษย์เรายังคงไม่หยุดที่จะหาคำตอบของปริศนาที่ว่า "มีเราอยู่เพียงลำพังในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้หรือเปล่า" ล่ะนะ ฮะฮะ) โดยสิ่งมีชีวิตที่คาดว่าจะเจอนั้นไม่ได้มีรูปร่างเหมือนคนเรา แต่จะอยู่ในรูปแบบจำพวกแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์มากกว่า

เอนเซลาดัส



          ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 504 กิโลเมตร มีน้ำในสถานะของเหลวข้างใต้แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมผิวดาว บริเวณขั้วใต้ของดาวยังมีภูเขาไฟน้ำแข็งพ่นน้ำแข็งขนาดเล็กขึ้นสู่ท้องฟ้าซึ่งน้ำแข็งบางส่วนก็ตกกลับสู่พื้นผิวดวงจันทร์ และบางส่วนก็กระจายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนดาวเสาร์


          ข้อมูลจากยานแคสซีนี (Cassini) ที่ปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวเสาร์มานานกว่า 20 ปี (และจะสิ้นสุดภารกิจในวันที่ 15 กันยายน 2560 นี้) ระบุว่ามีแก๊สไฮโดรเจนจำนวนมากไหลออกมาสู่มหาสมุทรใต้ผิวดวงจันทร์จากการระบายความร้อนใต้ก้นมหาสมุทร โดยยานพบแก๊สไฮโดรเจนในก๊าซและก้อนน้ำแข็งที่พ่นออกมาจากดวงจันทร์ ด้วยการใช้อุปกรณ์วัดสเปกตรัมมวลและไอออน (Ion and Neutral Mass Spectrometer หรือเรียกย่อ ๆ ว่า INMS) ดักจับก๊าซเข้าไปตรวจวัดหาองค์ประกอบ จากวิธีนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าเกือบ 98% ของก๊าซคือน้ำ ประมาณ 1% คือไฮโดรเจน และที่เหลือคือส่วนผสมของโมเลกุลอื่น ๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทนและแอมโมเนีย


          องค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต ได้แก่ น้ำในสถานะของเหลว (ใช้เป็นตัวทำละลาย), แหล่งพลังงานสำหรับการเผาผลาญอาหาร และสารเคมีที่เหมาะสม (ได้แก่ คาร์บอน, ไฮโดรเจน, ไนโตรเจน, ออกซิเจน, ฟอสฟอรัสและกำมะถัน) แม้ว่ายานแคสซีนีจะยังไม่พบฟอสฟอรัสกับกำมะถัน แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแกนหินของเอนเซลาดัสน่าจะมีส่วนผสมทางเคมีคล้ายกับอุตกาบาตซึ่งมีทั้งฟอสฟอรัสกับกำมะถันเป็นองค์ประกอบ

          ยานแคสซีนีไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ค้นหาสิ่งมีชีวิต แต่สิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์สามารถสร้างพลังงานได้จากการสังเคราะห์มีเทนโดยใช้ไฮโดรเจนร่วมกับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจากการค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าเอนเซลาดัสมีส่วนประกอบสำคัญเกือบทั้งหมดสำหรับการอยู่อาศัย จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอาศัยอยู่ก็ได้

ยูโรปา



          ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3,100 กิโลเมตร มีบรรยากาศเบาบางประกอบไปด้วยออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ พื้นผิวเป็นน้ำแข็งที่มีรอยแตกและเส้นริ้วบาง ๆ มีหลุมอุกกาบาตเล็กน้อย


          มีการค้นพบของเหลวพวยพุ่งออกมาจากตำแหน่งเดิมบนยูโรปาดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีด้วยกล้องอวกาศฮับเบิล โดยเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2559) พบการพวยพุ่งสูง 100 กิโลเมตรในตำแหน่งเดียวกับที่พบในปี 2557 ซึ่งมีความสูง 50 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังไปตรงกับตำแหน่งเดียวกับที่ยานอวกาศกาลิเลโอสังเกตเห็นในปี 2533 อีก ซึ่งจุดที่มีการพวยพุ่งออกมานั้นก็มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ

          นาซาตรวจสอบแสงอัลตราไวโอเลตของของเหลวที่พวยพุ่งออกมาในขณะที่ดวงจันทร์ยูโรปาเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี ซึ่งในขณะนั้นจะทำให้คุณลักษณะของชั้นบรรยากาศรอบขอบดวงจันทร์บดบังแสงจากดาวพฤหัสบดี ทำให้อุปกรณ์บนกล้องอวกาศฮับเบิลสามารถบันทึกภาพเงาของยูโรปาได้

          การค้นพบทั้ง 2 อย่างในครั้งนี้จะใช้เป็นรากฐานสำหรับภารกิจ Europa Clipper ที่ทางนาซาวางแผนจะเริ่มปฏิบัติงานในปี 2563 ที่จะถึงนี้


ที่มา: Nasa.gov


วันพฤหัสบดีที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2560

Google เปิดให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ VR บนเว็บ


          เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา Google เปิด WebVR บน Google Chrome ให้กับผู้ใช้มือถือที่รองรับระบบ Daydream และ Daydream View ได้สัมผัสประสบการณ์ VR (เทคโนโลยี Virtual Reality หรือเรียกง่าย ๆ ว่า VR เป็นเทคโนโลยีในการจำลองสภาพแวดล้อมเสมือนจริงในรูปแบบสามมิติที่ทำให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสราวกับอยู่ในสถานที่นั้นจริง ๆ) แต่ตอนนี้ WebVR บน Google Chrome สามารถใช้งานบนอุปกรณ์ VR ทั่ว ๆ ไปได้แล้ว


          WebVR Experiments คือเว็บไซต์ที่ทาง Google ปล่อยออกมาเพื่อแสดงคอนเทนต์ VR จากเหล่านักพัฒนา ให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสประสบการณ์ VR ผ่านหน้าเว็บ และถึงจะไม่มีแว่น VR ก็ยังสามารถเล่นคอนเทนต์ได้บนคอมพิวเตอร์หรือมือถือในรูปแบบสองมิติ

          นอกจากผู้ใช้จะได้เพลิดเพลินไปกับสภาพแวดล้อมเสมือนจริงแล้ว WebVR Experiments ยังเปิดให้นักพัฒนาสามารถหาซอร์สโค้ดเพื่อช่วยเรียนรู้ในการพัฒนาคอนเทนต์ VR และเมื่อพัฒนาเสร็จก็ยังสามารถเผยแพร่บนหน้าเว็บให้คนอื่น ๆ ทั่วโลกได้ทดลองใช้งานอีกด้วย


ที่มา: Blog Google


วันพุธที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2560

Google เปิดตัว AutoDraw เว็บที่ช่วยในการวาดภาพ


          การวาดรูปอาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ สำหรับใครบางคน ยิ่งถ้าต้องมาวาดในคอมพิวเตอร์หรือมือถือด้วยแล้ว เรียกได้ว่าเป็นงานโหดเลยทีเดียว แต่แล้ว Google ก็ได้ส่องสว่างขึ้นมาให้เห็นความช่วยเหลือ กับการเปิดตัวเครื่องมือใหม่ที่จะช่วยในการวาดรูป


          Autodraw เว็บที่ใช้ Machine Learning ในการคาดเดาภาพวาด (ฝีมือห่วย) ของคนธรรมดาสามัญที่วาดรูปไม่สวยและทำการแปลงออกมาเป็นภาพวาดที่สวยงาม (จากฝีมือนักออกแบบ, นักวาดของทาง Google เขาล่ะ) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกับเกม Quick, Draw! ที่ทาง Google สร้างขึ้นเพื่อให้ปัญญาประดิษฐ์ได้เรียนรู้สิ่งของจากภาพวาดของเรา (พูดง่าย ๆ ก็คือ Google หลอกใช้พวกเราให้สอนปัญญาประดิษฐ์นั่นเอง ฮะฮะ) และทดสอบดูว่าปัญญาประดิษฐ์จะคาดเดาว่าเราวาดภาพอะไรออกมาได้หรือเปล่า


          นอกจากนี้ Autodraw ยังเปิดรับภาพวาดจากบุคคลภายนอกอีกด้วย โดยสามารถส่งภาพวาดเข้าไปเป็นหนึ่งในตัวเลือกได้ที่ Autodraw Artists


ที่มา: Blog Google


Google จัดการปัญหาหน้าเพจเด้งใน Chrome


          เพื่อน ๆ เคยเจอปัญหานี้กันหรือเปล่าเอ่ย ตอนที่ใช้มือถือเปิดลิงก์และกำลังอ่านบทความอยู่ดี ๆ พอเลื่อนลงไปยังย่อหน้าถัดไป จู่ ๆ หน้าเพจก็เด้งกลับมาที่ด้านบนสุดราวกับมีพลังงานอะไรบางอย่างมาควบคุมเอาไว้ (ฮา) การเด้งของหน้าเพจเหล่านี้มักเกิดจากการแทรกภาพหรือเนื้อหาอื่น ๆ (เช่น โฆษณา) ลงไปในเว็บไซต์ ในตอนที่เราเปิดหน้าเพจ เนื้อหาหรือข้อความในหน้าเพจนั้น ๆ ก็จะแสดงขึ้นมาก่อน จากนั้นเนื้อหาอื่น ๆ จะแสดงขึ้นมาทีหลัง พอเราเลื่อนหน้าเว็บลงมายังพื้นที่ ๆ ใส่เนื้อหาจากแหล่งอื่น เนื้อหาเหล่านั้นก็จะถูกโหลดเข้ามายังหน้าเว็บ ทำให้หน้าเว็บเกิดการรีเซ็ต นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้หน้าเว็บเพจเด้งขึ้นไปยังข้างบนสุด

          แต่ Chrome เวอร์ชั่นล่าสุด (เวอร์ชั่น 56+) ได้ทำการเพิ่มฟีเจอร์ที่เรียกว่า Scroll anchoring ซึ่งจะทำการล็อคเนื้อหาที่เรากำลังอ่านอยู่ และคงแสดงผลในจุดเดิมเอาไว้เพื่อให้เราสามารถอ่านเนื้อหาต่อไปได้โดยไม่เด้งหน้าเพจไปข้างบนสุด


          จากคลิปวิดีโอเป็นการเปรียบเทียบ Chrome เวอร์ชั่นเก่ากับเวอร์ชั่นที่เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในเวอร์ชั่นที่เพิ่มฟีเจอร์ใหม่ หน้าเพจจะไม่เด้งขึ้นไปข้างบนสุด ทำให้เราอ่านเนื้อหาในหน้าเว็บได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันนี้ ฟีเจอร์ดังกล่าวสามารถป้องกันการเด้งได้ 3 ครั้ง แต่ทาง Google ยังคงพัฒนาต่อไปให้สามารถป้องกันการเด้งได้มากครั้งขึ้นอีก


ที่มา: Blog Google


วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีทำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง


          มะเร็ง หนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างมากมาย สาเหตุเกิดจากเซลล์เด็กดื้อที่ละเลยหน้าที่ของตัวเองแล้วเอาแต่แบ่งตัวกระจายไปรุกรานเซลล์อื่น ๆ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะรอบ ๆ จนในที่สุดก็นำความตายมาสู่ร่างกายที่มันอาศัยอยู่และตัวมันเอง ถือว่าเป็นโรคที่มีความอันตรายอย่างมาก แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบอีกวิธีที่จะใช้กำจัดเซลล์มะเร็งแล้ว

          ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Tel Aviv University ในอิสราเอลพบว่าสารประกอบในเซลล์มะเร็งสามารถป้องกันไม่ให้โครโมโซมแยกตัวออกและหยุดยั้งการแบ่งเซลล์ได้ โดยใช้วิธีการปรับเปลี่ยนโปรตีนที่มีผลต่อโครงสร้างและเสถียรภาพภายในเนื้อเยื่อ ซึ่งจะยับยั้งการแพร่กระจายและทำให้เซลล์มะเร็งตาย

          กระบวนการที่ค้นพบใหม่นี้สามารถทำให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวเองได้ ซึ่งแตกต่างจากการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันตรงที่วิธีดังกล่าวจะพุ่งเป้าหมายไปยังเซลล์เจ้าปัญหาโดยตรง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเซลล์ปกติ และถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่กำลังศึกษาค้นคว้าเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งโดยที่สร้างความเสียหายให้กับร่างกายน้อยที่สุด เหมือนกับงานวิจัยเมื่อปีที่แล้ว ที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Georgia State University ได้ระบุว่าโปรตีน ProAgio อาจจะกระตุ้นกระบวนการอะพอพโทซิส (Apoptosis กระบวนการที่ร่างกายใช้ในการกำจัดเซลล์เก่า) ในเซลล์มะเร็งได้ และวิจัยก่อนหน้านี้ที่จะเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งได้รับน้ำตาลกลูโคส, การปิดกั้นโปรตีน MCL1 ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งสามารถต่อต้านกระบวนการอะพอพโทซิส

          จากการทดสอบกับมะเร็งหลาย ๆ ประเภท (เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเลือด มะเร็งสมอง เป็นต้น) ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นบวก สามารถหยุดการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมระยะ 3 ที่ทนต่อการรักษาในหนูได้ ซึ่งทีมนักวิจัยจะศึกษาเพิ่มเติมว่าโปรตีนสามารถต่อสู้กับมะเร็งเต้านมในระยะ 3 และมะเร็งตับอ่อนได้อย่างไร เพื่อนำไปพัฒนายาต้านมะเร็ง

          เห็นข่าวงานวิจัยแบบนี้ก็หวังว่าในอนาคตจะสามารถผลิตยารักษาโรคมะเร็งออกมาได้นะ เอาแบบกินปุบหายปับเลย (ฮา) แต่ว่า...การที่มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายและเบียดเบียนอวัยวะอื่น ๆ เนี่ย ก็เหมือนกับที่มนุษย์เราขยายพื้นที่อยู่อาศัยออกไปแล้วก็ทำลายสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ไปด้วยเลยนี่เนอะ


ที่มา: Sciencealert.com


วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

ตรวจพบชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบเป็นครั้งแรก


          นักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบชั้นบรรยากาศรอบดาวเคราะห์นอกระบบที่เรียกว่า Gliese 1132b (หรือเรียกย่อ ๆ ว่า GJ 1132b) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 39 ปีแสงในกลุ่มดาว Vela (กลุ่มดาวใบเรือ) ถือเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์ที่มีมวลและรัศมีใกล้เคียงกับโลก

          การตรวจพบครั้งนี้ถึงจะไม่ใช่การตรวจพบสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่น แต่ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญ เพราะดาวเคราะห์ที่มีชั้นบรรยากาศจะมีโอกาสพบชีวิตได้มากกว่าดวงดาวที่ปราศจากชั้นบรรยากาศ แต่ไม่ได้หมายความว่าดาวที่มีชั้นบรรยากาศจะมีสิ่งมีชีวิตเสมอไปนะ เช่น ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศก็จริง แต่ภายในชั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก จึงทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก อุณหภูมิภายในดาวสูงจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เป็นต้น ...ออกนอกเรื่องไปนิดนึง กลับเข้าเรื่องมาทำความรู้จักกับดาว GJ 1132b กันดีกว่า


          ดาว GJ 1132b ถูกค้นพบเมื่อปลายปี 2558 มีมวลประมาณ 1.6 เท่าของโลก มีรัศมีประมาณ 1.4 เท่าของโลก แรงดึงดูดที่พื้นผิวสูงกว่าโลก 1.2 เท่า ถือเป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกมาก แต่สิ่งที่ต่างไปจากโลกคือเจ้าดาวดวงนี้ดันโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ Gliese 1132 ในระยะที่ใกล้เกินไปจนทำให้อุณหภูมิบนพื้นผิวดาวสูงถึง 227 องศาเซลเซียส ด้วยอุณหภูมิขนาดนี้น้ำคงจะไม่สามารถอยู่ในสถานะของเหลวและน่าจะระเหยไปหมดแล้ว จึงถือได้ว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

          เนื่องจากดาวเคราะห์ GJ 1132b โคจรรอบดาวฤกษ์ Gliese 1132 ใกล้เกินไป จึงทำให้คาดว่าชั้นบรรยากาศน่าจะถูกพายุสุริยะจากดาวฤกษ์ทำลายไปแล้ว แต่จากการค้นพบล่าสุดแสดงให้เห็นว่าชั้นบรรยากาศคงจะทนต่อการโจมตีเป็นเวลาหลายพันล้านปีได้โดยไม่ถูกทำลาย ซึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้ดาวเคราะห์อีกนับพันที่โคจรรอบดาวฤกษ์มวลต่ำอาจจะมีชั้นบรรยากาศอยู่ก็เป็นได้ และบางที "ชั้นบรรยากาศ" หนึ่งในเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตก็อาจจะเป็นเรื่องปกติในจักรวาล


ที่มา: Sciencealert.com


Microsoft ปล่อย Windows 10 Creators Update ให้อัปเดตแล้ว!


          หลังจากที่ประกาศเปิดตัวไปแล้วในงาน Microsoft Windows 10 Event เมื่อปลายปีที่แล้ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ในที่สุด Microsoft ก็ปล่อย Windows 10 Creators Update ให้พวกเราชาว Windows ได้ดาวน์โหลดไปอัปเดตแล้ว ส่วนในฝั่งนักพัฒนาก็มี Creators Update SDK ให้ไปอัปเดตเครื่องมือที่จะใช้งานใน Windows 10 ตัวใหม่นี้เหมือนกัน โดยตัวอัปเดตนี้จะเพิ่มความสามารถใหม่ ๆ ดังต่อไปนี้

  • เพิ่มความสามารถในการแสดงผลทั้ง Effect, Animation และ Transition และเพิ่มเอฟเฟ็กต์ต่างๆให้กับเลเยอร์ XAML
  • เพิ่มความสามารถให้กับระบบ Ink โดยเพิ่มการ Analysis, ปรับปรุง Recognition, เพิ่ม Effect และ Tool ใหม่ให้กับ Ink Toolbar
  • เพิ่ม API ที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่นสำหรับ Surface Dial
  • ปรับปรุง Bluetooth โดยการเพิ่ม Bluetooth LE GATT Server, โหมดสำหรับค้นหาอุปกรณ์ Windows ได้ง่ายขึ้น, รองรับการเชื่อมต่อแบบอิสระ
  • สามารถจัดกลุ่ม Notification ตาม Application ได้
  • ปรับปรุง Desktop Bridge ให้สามารถนำแอปพลิเคชัน Win32 ไปใช้ใน Windows 10 และวางขายใน Windows Store ได้ง่ายขึ้น
  • ใช้งานข้ามอุปกรณ์ได้ง่ายขึ้นด้วย Project Rome และปล่อยตัว Android SDK for Project Rome
  • ใช้ Windows SDK for Facebook เพื่อโฆษณาให้ติดตั้ง App ผ่าน Facebook
  • ปรับปรุงการประมวลผลแบบ Background
  • เพิ่มความปลอดภัยให้กับ Application ด้วยการรวมเข้ากับ Windows Hello
  • การวิเคราะห์ Application ผ่านทาง Dev Portal สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
  • Download และ Update Application ได้เร็วขึ้นจากการแยกส่วนประกอบ packages ของ Application และติดตั้งแบบ Streaming
  • เพิ่มประสิทธิภาพและความยืดหยุ่นใน Visual Studio 2017 สามารถเรียกใช้ SDK สองรุ่นที่ต่างกันในเครื่องเดียวกันได้
  • ปรับปรุง Windows Console และ Windows Subsystem for Linux
  • นักพัฒนาสามารถเผยแพร่เกม UWP บน Xbox ผ่านทาง Xbox Live Creators Program
  • รองรับการแสดงผล 3D บน HoloLens และรองรับ Headset ผ่านทาง Windows Mixed Reality Platform
          สำหรับเพื่อน ๆ ที่ไม่ต้องการรอให้ Windows แจ้งอัปเดต สามารถเข้าไปดาวน์โหลดไฟล์อัปเดตทันทีได้ที่ Microsoft Software Download


ที่มา: Blogs Windows


[ประชาสัมพันธ์] งานสัมมนา Smart IT for Smart Industry

          ขอเชิญเข้าร่วมงานสัมมนาภายใต้หัวข้อเรื่อง Smart IT for Smart Industry ในงาน Intermach 2017 โดยจะแบ่งการบรรยายออกเป็น 2 หัวข้อย่อย ได้แก่ "การใช้ซอฟต์แวร์ด้าน PLC, Sensor, SCADA, Microcontroller ที่ใช้ในระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อรองรับกับยุค Industry 4.0" และ "วิธีบริหารโครงการอุตสาหกรรมด้วย Delta Project Management"

วันพุธที่ 17 พฤษภาคม 2560
เวลา 13:00 - 16:00 น.
สถานที่ ห้องประชุม MR 212 ศูนย์แสดงนิทรรศการและสินค้าไบเทค บางนา
ลงทะเบียนได้ที่ Register Link

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม: ฝ่ายส่งเสริมธุรกิจซอฟต์แวร์ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย
คุณสุริณี เจริญกล้า โทร. 02-583-9992 ต่อ 1481
E-mail: surinee@swpark.or.th

Agenda

13.00 - 13.30 น. ลงทะเบียนสัมมนา
13.30 - 14.30 น. บรรยายหัวข้อเรื่อง "การใช้ซอฟต์แวร์ด้าน PLC, Sensor, SCADA, Microcontroller ที่ใช้ในระบบควบคุมอัตโนมัติ เพื่อรองรับกับยุค Industry 4.0" โดย ดร. ชานินทร์  จูฉิม หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี หน่วยงานภาครัฐและเอกชน
14.30 - 14.40 น. ตอบข้อซักถาม
14.40 - 15.40 น. บรรยายหัวข้อเรื่อง "วิธีบริหารโครงการอุตสาหกรรมด้วย Delta Project Management" โดยวิทยากร คุณทีปกร ศิริวรรณ, Senior Director, บจก.นิรมิตกรุ๊ป
15.40 - 15.50 น. ตอบข้อซักถาม
16.00 น. จบการสัมมนา


ที่มา: Swpark.or.th


วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560

ระบบดาว TRAPPIST-1 ไม่ได้เป็นไปตามที่พวกเราหวังไว้


          เพื่อน ๆ น่าจะยังจำข่าวในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ที่มีการค้นพบระบบสุริยะขนาดเล็กอันประกอบไปด้วยดาวเคราะห์ 7 ดวงโคจรรอบดาวแคระเย็นจัดที่เรียกว่า TRAPPIST-1 ได้สินะครับ (ถ้าจำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร กลับไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่) ตอนนั้นทางนาซาคาดหวังว่าดาวเคราะห์ 3 ดวงน่าจะมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะอยู่อาศัยได้ เช่น มีน้ำในสภาพของเหลว มีอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นต้น แต่หลังจากได้มีการศึกษาเพิ่มเติมแล้วพบว่าระบบดาว TRAPPIST-1 มีความผันผวนมาก และดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกทั้ง 3 ดวงนั้นกลับไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยซะแล้ว

          ทีมที่นำโดยนักดาราศาสตร์คุณ Krisztián Vida จาก Observatory Konkoly ในฮังการีได้ทำการวิเคราะห์รูปแบบการส่องสว่างในข้อมูลดิบของ TRAPPIST-1 (ซึ่งได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ของนาซา) แล้วพบว่าในช่วงเวลา 80 วัน มีการระเบิดเปลวไฟพลังงานสูง 42 ครั้ง และการปะทุครั้งใหญ่ที่สุดก็มีพลังมากพอ ๆ กับ "มหาพายุสุริยะ" จากดวงอาทิตย์ที่เคยเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2402 ซึ่งสามารถทำให้ไฟฟ้าดับและระบบสื่อสารเสียหายได้

          เนื่องจากดาวเคราะห์ 3 ดวงที่น่าจะอยู่อาศัยได้อยู่ในระยะใกล้กับจุดที่เกิดการระเบิดเกินไป ดังนั้นผลกระทบที่เกิดจากพายุสุริยะของ TRAPPIST-1 จึงมีความรุนแรงมากกว่าผลกระทบของพายุสุริยะที่ส่งกระทบกับโลกเป็นร้อยหรือพันเท่า นอกจากนี้ระยะเวลาเฉลี่ยที่เกิดพายุสุริยะคือทุก ๆ 28 ชั่วโมง

          จากการศึกษาเมื่อปีที่แล้วพบว่าชั้นบรรยากาศจะใช้เวลา 30,000 ปีในการฟื้นตัวจากการถูกพายุสุริยะ นั่นหมายความว่าการปะทุระเบิดอย่างต่อเนื่องนี้น่าจะทำลายเสถียรภาพในชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์ในระบบ นอกเสียจากว่าดาวเคราะห์จะมีสนามแม่เหล็กความเข้มข้นที่สูงมากกว่าของโลก จึงจะสามารถปกป้องชั้นบรรยากาศได้ (ซึ่งก็เป็นไปได้ยากซะเหลือเกิน)

          การศึกษายังอยู่ระหว่างการทบทวนเผื่อว่าผลลัพธ์อาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่ท่าทางจะหมดหวังแล้วสำหรับการอยู่อาศัยหรือการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ TRAPPIST-1


ที่มา: Sciencealert.com


วันอังคารที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2560

แอนดรอยด์กลายเป็นระบบปฎิบัติการยอดนิยมที่สุด


          จากข้อมูลส่วนแบ่งการตลาดทั่วโลกที่บันทึกโดยบริษัทด้านการจัดเก็บสถิติ Statcounter.com ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าปัจจุบันระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์กลายมาเป็นระบบปฎิบัติการที่มีผู้นิยมใช้งานมากที่สุด แซงหน้าระบบปฎิบัติการวินโดว์ไปแล้ว


          จากกราฟจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ใช้งานอุปกรณ์ระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์เพิ่มขึ้นทุกปี สวนทางกับจำนวนผู้ใช้งานระบบปฎิบัติการวินโดว์ที่ค่อย ๆ ลดลง และเป็นครั้งแรกที่ระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์เอาชนะระบบปฎิบัติการวินโดว์ได้ (แม้จะนิดหน่อยก็เถอะ ฮา) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ที่สนใจใช้งาน mobile platform สูงขึ้นเรื่อย ๆ

          ถ้าเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคมของเมื่อ 5 ปีก่อน ระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์มีผู้ใช้งานเพียง 2.4% ในขณะที่ระบบปฎิบัติการวินโดว์มีผู้ใช้งานมากถึง 81.4% แต่ปัจจุบันสถานะการณ์ได้เปลี่ยนไปแล้ว ผู้ใช้งานระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์เพิ่มขึ้นเป็น 37.93% ส่วนผู้ใช่งานระบบปฎิบัติการวินโดว์ลดลงเหลือ 37.91% ผู้คนหันมาใช้งานอุปกรณ์พกพากันมากขึ้น ส่งผลให้ระบบปฎิบัติการบนอุปกรณ์พกพาเติบโตขึ้นเป็นอย่างมาก โดยผู้ใช้งานส่วนใหญ่ของระบบปฎิบัติการแอนดรอยด์จะอยู่ในพื้นที่แถบเอเชีย ส่วนพื้นที่แถบอเมริกาและยุโรปผู้คนจะนิยมใช้งานระบบปฎิบัติการวินโดว์มากกว่า


ที่มา: Statcounter.com


วันจันทร์ที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560

ความเหงาส่งผลให้อาการป่วยแย่ลง


          เพื่อน ๆ ทราบหรือเปล่าว่าอาการป่วยสามารถรุนแรงขึ้นได้ในยามที่เพื่อน ๆ กำลังรู้สึกเหงา จากการวิจัยที่ตีพิมพ์โดย American Psychological Association (APS) หรือสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกากล่าวว่าหากคนเหงาเป็นไข้หวัด จะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนที่ไม่เหงา

          นักวิจัยศึกษาอาสาสมัคร 159 คน มีอายุตั้งแต่ 18 ถึง 55 ปี และเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ชาย ทุกคนได้รับการประเมินเพื่อสุขภาพทางด้านร่างกายและจิตใจ ก่อนจะให้อยู่ในห้องพักโรงแรมเป็นเวลา 5 วัน จากการศึกษานักวิจัยพบว่าผู้ที่รู้สึกเหงาไม่มีแนวโน้มที่จะป่วยมากกว่าผู้ที่ไม่รู้สึกเหงา แต่ในบรรดาผู้ที่ป่วยอยู่แล้ว (75 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่าง) คนที่เหงาจะรายงานอาการหวัดรุนแรงกว่า โดยที่จำนวนเพื่อนของอาสาสมัครไม่มีผลต่อความเจ็บป่วยที่พวกเขารู้สึก

          "การวิจัยชี้ให้เห็นว่าความเหงาทำให้คนที่มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและความเจ็บป่วยทางกาย" Angie LeRoy นักศึกษาบัณฑิตศึกษาด้านจิตวิทยาของ Rice University กล่าว "เรามองไปที่คุณภาพของความสัมพันธ์ของคนไม่ใช่ปริมาณ ถึงจะอยู่ในห้องที่มีผู้คนมากมายก็สามารถรู้สึกเหงาได้ ซึ่งการรับรู้เป็นเรื่องสำคัญในขณะที่เราไม่สบาย" .....ความเหงาที่ใจช่างส่งผลรุนแรงต่อร่างกายนัก (ฮา)

          ดอกเตอร์ Chris Fagundes ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Rice University ผู้ร่วมทำการศึกษากล่าวว่า "แพทย์ควรคำนึงถึงปัจจัยทางด้านจิตวิทยาในการวินิจฉัยโรค ซึ่งจะช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์เมื่อผู้คนล้มป่วย"


ที่มา: Apa.org