วันพฤหัสบดีที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2560

อะโวคาโดช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด


          นักวิจัยทำการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพของอะโวคาโดพบว่า อะโวคาโดอาจช่วยในรักษาโรคในกลุ่ม Metabolic Syndrome หรือก็คือกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน, โรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ได้แก่ โรคอ้วน, High-Density Lipoprotein (HDL) Cholesterol (หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่าไขมันดี) ระดับต่ำ, ไขมันในเลือดสูง, น้ำตาลในเลือดสูง หรือความดันโลหิตสูง เป็นต้น ซึ่งถ้าเพื่อน ๆ คนไหนมีความผิดปกติเหล่านี้สัก 3 ข้อก็ขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะคุณไม่ได้ไปต่อ เอ๊ยไม่ใช่ เพราะนั่นหมายถึงเพื่อน ๆ ได้เป็นโรคในกลุ่ม Metabolic Syndrome เรียบร้อยแล้ว

          วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันหรือรักษาโรคในกลุ่ม Metabolic Syndrome ก็คือการเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิต หรือพูดง่าย ๆ ก็คือกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งบทความนี้พูดถึงอะโวคาโดนั่นก็หมายถึงเจ้าผลไม้ตัวนี้สามารถช่วยลดความผิดปกติที่กล่าวมาแล้วได้นั่นเอง

          ในการศึกษากลุ่มตัวอย่าง 67 คน โดย 30 คนมีสุขภาพที่แข็งแรงและอีก 37 คนมีภาวะไขมันในเลือดสูง หลังจากรับประทานอาหารเสริมที่สกัดจากอะโวคาโดเป็นเวลา 1 สัปดาห์พบว่าไขมันเลว (LDL-Cholesterol) และไขมันในเส้นเลือดของทั้งสองกลุ่มมีการลดลง จึงสรุปได้ว่าอะโวคาโดเป็นผลไม้มีผลต่อระดับไขมันดี (HDL-Cholesterol), ไขมันเลว (LDL-Cholesterol) และไขมันในเส้นเลือด

          จากการศึกษาหนึ่งพบว่าอะโวคาโดเป็นประโยชน์ในการลดน้ำหนัก โดยผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน ถ้ากินอะโวคาโดวันละ 1 ลูกเป็นเวลา 6 สัปดาห์ น้ำหนักตัว, ดัชนีมวลกาย (BMI) และเปอร์เซ็นต์ของไขมันในร่างกายจะลดลงอย่างมาก

          นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการกินอะโวคาโดเพื่อลดความดันโลหิตของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอะโวคาโดอาจช่วยลดการอุดตันหรือการแข็งของหลอดเลือดแดงได้

          สรุปว่าอะโวคาโดมีสรรพคุณที่ช่วยลดความดันโลหิต ลดไขมันในเลือด ลดระดับไขมันเลว เพิ่มระดับไขมันดี ลดเปอร์เซ็นต์ไขมัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลที่พูดมานั้นช่วยป้องกันความเสี่ยงของโรคในกลุ่ม Metabolic Syndrome ได้อย่างดีเลย .....ประโยชน์มากมายขนาดนี้ สงสัยต้องกินบ้างแล้วล่ะ


ที่มา: Medicalnewstoday.com


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น