วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

นาซาเผยข้อมูลที่ค้นพบได้จากมหาสมุทรอีกสองแห่งนอกโลก


          เมื่อวันที่ 14 เมษาที่ผ่านมา (14 เมษายน 2560) นาซาได้แถลงข่าวรายละเอียดข้อมูลที่ค้นพบได้จากมหาสมุทรนอกโลก .....เพื่อน ๆ อ่านไม่ผิดหรอกครับ มหาสมุทรนอกโลกจริง ๆ เป็นมหาสมุทรที่อยู่ในระบบสุริยะของเรานี่แหละ นั่นก็คือ เอนเซลาดัส (Enceladus) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ และยูโรปา (Europa) ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ซึ่งจากข้อมูลที่ค้นพบทำให้เจ้าดาวทั้งสองดวงนี้มีโอกาสที่จะเจอสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ (ข่าวที่แล้ว ๆ มาก็เหมือนจะเป็นแบบนี้ แต่ก็นั่นแหละ มนุษย์เรายังคงไม่หยุดที่จะหาคำตอบของปริศนาที่ว่า "มีเราอยู่เพียงลำพังในจักรวาลอันกว้างใหญ่นี้หรือเปล่า" ล่ะนะ ฮะฮะ) โดยสิ่งมีชีวิตที่คาดว่าจะเจอนั้นไม่ได้มีรูปร่างเหมือนคนเรา แต่จะอยู่ในรูปแบบจำพวกแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์มากกว่า

เอนเซลาดัส



          ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 504 กิโลเมตร มีน้ำในสถานะของเหลวข้างใต้แผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมผิวดาว บริเวณขั้วใต้ของดาวยังมีภูเขาไฟน้ำแข็งพ่นน้ำแข็งขนาดเล็กขึ้นสู่ท้องฟ้าซึ่งน้ำแข็งบางส่วนก็ตกกลับสู่พื้นผิวดวงจันทร์ และบางส่วนก็กระจายเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวงแหวนดาวเสาร์


          ข้อมูลจากยานแคสซีนี (Cassini) ที่ปฏิบัติภารกิจสำรวจดาวเสาร์มานานกว่า 20 ปี (และจะสิ้นสุดภารกิจในวันที่ 15 กันยายน 2560 นี้) ระบุว่ามีแก๊สไฮโดรเจนจำนวนมากไหลออกมาสู่มหาสมุทรใต้ผิวดวงจันทร์จากการระบายความร้อนใต้ก้นมหาสมุทร โดยยานพบแก๊สไฮโดรเจนในก๊าซและก้อนน้ำแข็งที่พ่นออกมาจากดวงจันทร์ ด้วยการใช้อุปกรณ์วัดสเปกตรัมมวลและไอออน (Ion and Neutral Mass Spectrometer หรือเรียกย่อ ๆ ว่า INMS) ดักจับก๊าซเข้าไปตรวจวัดหาองค์ประกอบ จากวิธีนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าเกือบ 98% ของก๊าซคือน้ำ ประมาณ 1% คือไฮโดรเจน และที่เหลือคือส่วนผสมของโมเลกุลอื่น ๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์, มีเทนและแอมโมเนีย


          องค์ประกอบที่จำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิต ได้แก่ น้ำในสถานะของเหลว (ใช้เป็นตัวทำละลาย), แหล่งพลังงานสำหรับการเผาผลาญอาหาร และสารเคมีที่เหมาะสม (ได้แก่ คาร์บอน, ไฮโดรเจน, ไนโตรเจน, ออกซิเจน, ฟอสฟอรัสและกำมะถัน) แม้ว่ายานแคสซีนีจะยังไม่พบฟอสฟอรัสกับกำมะถัน แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแกนหินของเอนเซลาดัสน่าจะมีส่วนผสมทางเคมีคล้ายกับอุตกาบาตซึ่งมีทั้งฟอสฟอรัสกับกำมะถันเป็นองค์ประกอบ

          ยานแคสซีนีไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ค้นหาสิ่งมีชีวิต แต่สิ่งมีชีวิตจำพวกจุลินทรีย์สามารถสร้างพลังงานได้จากการสังเคราะห์มีเทนโดยใช้ไฮโดรเจนร่วมกับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจากการค้นพบนี้แสดงให้เห็นว่าเอนเซลาดัสมีส่วนประกอบสำคัญเกือบทั้งหมดสำหรับการอยู่อาศัย จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวอาศัยอยู่ก็ได้

ยูโรปา



          ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 3,100 กิโลเมตร มีบรรยากาศเบาบางประกอบไปด้วยออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ พื้นผิวเป็นน้ำแข็งที่มีรอยแตกและเส้นริ้วบาง ๆ มีหลุมอุกกาบาตเล็กน้อย


          มีการค้นพบของเหลวพวยพุ่งออกมาจากตำแหน่งเดิมบนยูโรปาดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีด้วยกล้องอวกาศฮับเบิล โดยเมื่อปีที่แล้ว (ปี 2559) พบการพวยพุ่งสูง 100 กิโลเมตรในตำแหน่งเดียวกับที่พบในปี 2557 ซึ่งมีความสูง 50 กิโลเมตร นอกจากนี้ยังไปตรงกับตำแหน่งเดียวกับที่ยานอวกาศกาลิเลโอสังเกตเห็นในปี 2533 อีก ซึ่งจุดที่มีการพวยพุ่งออกมานั้นก็มีอุณหภูมิสูงผิดปกติ

          นาซาตรวจสอบแสงอัลตราไวโอเลตของของเหลวที่พวยพุ่งออกมาในขณะที่ดวงจันทร์ยูโรปาเคลื่อนที่ผ่านหน้าดาวพฤหัสบดี ซึ่งในขณะนั้นจะทำให้คุณลักษณะของชั้นบรรยากาศรอบขอบดวงจันทร์บดบังแสงจากดาวพฤหัสบดี ทำให้อุปกรณ์บนกล้องอวกาศฮับเบิลสามารถบันทึกภาพเงาของยูโรปาได้

          การค้นพบทั้ง 2 อย่างในครั้งนี้จะใช้เป็นรากฐานสำหรับภารกิจ Europa Clipper ที่ทางนาซาวางแผนจะเริ่มปฏิบัติงานในปี 2563 ที่จะถึงนี้


ที่มา: Nasa.gov


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น