วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

วิธีต่อสู้กับความอยากขนมกินเล่น


          ในบทความที่แล้วได้กล่าวถึง ปัจจัยที่ทำให้รู้สึกอยากกินขนม ไปแล้ว ซึ่งก็น่าจะทำให้เพื่อน ๆ เข้าใจสาเหตุที่ทำให้เราอยากกินขนมแล้วล่ะ พอเรารู้สาเหตุก็จะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหลีกเลี่ยงไม่ทำให้ร่างกายร้องเรียกหาขนมได้ แต่ในความเป็นจริงแค่หลีกเลี่ยงอย่างเดียวอาจจะยังไม่พอ ตามตำราพิชัยสงครามกล่าวว่า "แค่หลบหนีอย่างเดียวไม่ทำให้เราเอาชนะศัตรูได้" (มีกล่าวแบบนี้จริงเร้อ ฮะฮะ) นอกจากหลีกเลี่ยงแล้วเราต้องสู้กลับให้เป็น เพราะงั้นเรามาดูวิธีต่อสู้เพื่อลดความอยากขนมกินเล่นกันเถอะ

1. ให้ร่างกายได้รับเชื้อเพลิงดีตลอดทั้งวัน

          หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดความอยากของหวานก็คือการอดอาหาร เพราะงั้นเราก็อย่าอดอาหารซะ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะกินอะไรก็ได้นะ ถ้ากินพวกข้าวขาหมู, ข้าวมันไก่บ่อย ๆ มีหวังแคลอรี่พุ่งสูงจนร่างกายเก็บไปเป็นไขมันแน่นอน ให้เลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายพวกสลัดผักหรืออาหารที่มีการปรุงแต่งน้อยเพื่อไม่ให้ได้รับแคลอรี่มากจนเกินไป นอกจากนี้ก็ไม่ควรทิ้งระยะห่างระหว่างมื้อนานเกินไป แบ่งกินเป็นมื้อย่อย ๆ หลายมื้อต่อวันจะทำให้ท้องอิ่มอยู่เรื่อย ๆ และการเพิ่มโปรตีนลงไปในแต่ละมื้อก็จะทำให้อิ่มท้องได้นานช่วยลดความอยากขนมหวานได้

          ถ้ารู้สึกอยากขนมกินเล่นถึงขั้นอดใจไม่ไหว ให้เลือกกินขนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการแทน เช่น แครกเกอร์ธัญพืช, ถั่ว, ผลไม้สด, โยเกิร์ตรสธรรมชาติราดด้วยผลไม้ หรือดาร์กช็อกโกแลตที่มีโกโก้ 70% ขึ้นไป เป็นต้น ถึงสิ่งสำคัญจะเป็นการเลือกกินของที่มีประโยชน์ แต่ก็อย่าเข้มงวดกับตัวเองมากเกินไป ควรปล่อยให้ร่างกายได้สัมผัสของหวานบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อไม่ให้อดทนไม่ไหวตบะแตกไปซะก่อน (ฮา)

2. อย่าพึ่งพาเครื่องดื่มลดน้ำหนัก

          เครื่องดื่มส่วนใหญ่จะใส่น้ำตาลเป็นจำนวนมากเพื่อเพิ่มความหวาน แต่พอกระแสรักสุขภาพเริ่มมา ก็เริ่มมีการรณรงค์ให้กินน้ำตาลน้อยลง บริษัทเครื่องดื่มจึงผลิตเครื่องดื่มที่ไม่ใส่น้ำตาล แต่ใช้สารให้ความหวานแทน แต่เพื่อน ๆ ทราบหรือเปล่าว่าเจ้าสารให้ความหวานเนี่ยตัวอันตรายเลย ทำให้เรากินมากเกินไปส่งผลให้อ้วนลงพุง นอกจากนี้สารให้ความหวานยังทำให้ร่างกายของเราต่อต้านฮอร์โมนอินซูลินที่ช่วยนำพาน้ำตาลรวมทั้งสารให้พลังงานอื่น ๆ ออกจากในกระแสเลือด พอเราขาดฮอร์โมนอินซูลินก็จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง สุดท้ายก็เอวังกลายเป็นโรคเบาหวาน เพราะฉะนั้นเวลาที่หิวน้ำก็เลือกเครื่องดื่มให้ดี ๆ หน่อยนะจ๊ะ

3. ปรับเปลี่ยนรสชาติใหม่

          การปรับเปลี่ยนรสชาติให้เสพติดขนมหวานน้อยลงทำได้โดยการเปลี่ยนมากินของจากธรรมชาติให้มากขึ้น เช่น เปลี่ยนการกินขนมหวานมากินผลเบอร์รี่ราดด้วยดาร์กช็อกโกแลตที่เพิ่มโปรตีนและไขมันดีด้วยเนยถั่ว เป็นต้น หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเปลี่ยนการกินของที่ผ่านการปรุงแต่งมากินของที่มาจากธรรมชาติแทน วิธีนี้จำเป็นต้องใช้ความอดทนและความมีวินัย แต่ถ้าทำเป็นประจำได้ เพื่อน ๆ ก็จะมีความอยากขนมกินเล่นน้อยลง

4. หาผู้สนับสนุน

          การใช้ชีวิตในสังคมแน่นอนว่าจะต้องพบปะข้องเกี่ยวกับคนอื่น ๆ เช่น ครอบครัว, เพื่อน หรือคนรัก หนึ่งในวิธีควบคุมความอยากขนมกินเล่นก็คือการได้รับแรงสนับสนุนหรือแนวร่วมจากบุคคลรอบตัวเหล่านี้นั่นเอง ในวัยทำงานมักจะหาแรงสนับสนุนได้จากเพื่อนร่วมงาน (อันนี้ประสบการณ์ตรงเลย ที่ผมเริ่มออกกำลังกายเริ่มวิ่งก็เพราะมีพี่ที่ทำงานกำลังจะลดน้ำหนัก เลยมีคนให้คุยเรื่องเดียวกันแล้วก็ออกกำลังกายไปด้วยกัน) ส่วนในเด็ก ๆ ก็อยู่ในความดูแลของผู้ปกครองแล้วล่ะ (ฮา)

5. กินมังสวิรัติบ้าง

          การกินอาหารมังสวิรัติช่วยลดความหิวและความอยากขนมกินเล่นได้ เพราะอาหารมังสวิรัติส่วนใหญ่ปรุงจากผักและผลไม้ซึ่งก็เป็นกการกินอาหารที่มาจากธรรมชาตินั่นเอง นอกจากนี้กินอาหารมังสวิรัติก็ยังช่วยลดน้ำหนักและเป็นการดูแลสุขภาพที่ดีอีกวิธีหนึ่งด้วย

6. ให้ความสนใจกับร่างกายของตัวเอง

          ความเครียดเป็นหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อยากกินขนมหวาน เพราะงั้นก็ไม่ควรปล่อยให้ตัวเองเครียดจนเกินไป (ยิ่งเครียดยิ่งกิน) ให้ลองนั่งสมาธิหรือออกกำลังกาย ทั้งสองวิธีนี้ช่วยลดความเครียดแล้วยังทำให้ร่างกายหลั่งโกรทฮอร์โมนออกมา ซึ่งนอกจากจะช่วยคืนความอ่อนเยาว์ให้แล้ว (ออกกำลังกายบ่อย ๆ แล้วหน้าจะดูเด็กนะจ๊ะ อันนี้ก็ประสบการณ์ตรงเหมือนกัน ถูกทักว่าหน้าเด็ก ฮะฮะ) โกรทฮอร์โมนยังช่วยในการนอนหลับทำให้ร่างกายได้พักผ่อน เมื่อตื่นขึ้นมาก็จะพร้อมในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยความสดชื่น แต่อย่าหักโหมออกกำลังกายมากนัก เดี๋ยวจะอยากกินของหวานชดเชย (ยิ่งเหนื่อยยิ่งอยากกินของหวาน)


          เป็นยังไงกันบ้างครับ วิธีเหล่านี้ทำได้ไม่ยากเลย...มั้ง แต่เอาเข้าจริงจะให้ตัดขาดขนมหวานไปเลยก็คงยากไปหน่อย (ชีวิตต้องการความหวาน) เอาเป็นว่ากินบ้างแต่พอควรดีกว่าเนอะ ฮะฮะ


ที่มา: Clevelandclinic.org


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น