วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

ตรวจพบชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบเป็นครั้งแรก


          นักดาราศาสตร์ได้ตรวจพบชั้นบรรยากาศรอบดาวเคราะห์นอกระบบที่เรียกว่า Gliese 1132b (หรือเรียกย่อ ๆ ว่า GJ 1132b) ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 39 ปีแสงในกลุ่มดาว Vela (กลุ่มดาวใบเรือ) ถือเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์ที่มีมวลและรัศมีใกล้เคียงกับโลก

          การตรวจพบครั้งนี้ถึงจะไม่ใช่การตรวจพบสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่น แต่ก็ถือเป็นก้าวที่สำคัญ เพราะดาวเคราะห์ที่มีชั้นบรรยากาศจะมีโอกาสพบชีวิตได้มากกว่าดวงดาวที่ปราศจากชั้นบรรยากาศ แต่ไม่ได้หมายความว่าดาวที่มีชั้นบรรยากาศจะมีสิ่งมีชีวิตเสมอไปนะ เช่น ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศก็จริง แต่ภายในชั้นบรรยากาศเต็มไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก จึงทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก อุณหภูมิภายในดาวสูงจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ เป็นต้น ...ออกนอกเรื่องไปนิดนึง กลับเข้าเรื่องมาทำความรู้จักกับดาว GJ 1132b กันดีกว่า


          ดาว GJ 1132b ถูกค้นพบเมื่อปลายปี 2558 มีมวลประมาณ 1.6 เท่าของโลก มีรัศมีประมาณ 1.4 เท่าของโลก แรงดึงดูดที่พื้นผิวสูงกว่าโลก 1.2 เท่า ถือเป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกับโลกมาก แต่สิ่งที่ต่างไปจากโลกคือเจ้าดาวดวงนี้ดันโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ Gliese 1132 ในระยะที่ใกล้เกินไปจนทำให้อุณหภูมิบนพื้นผิวดาวสูงถึง 227 องศาเซลเซียส ด้วยอุณหภูมิขนาดนี้น้ำคงจะไม่สามารถอยู่ในสถานะของเหลวและน่าจะระเหยไปหมดแล้ว จึงถือได้ว่าไม่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่

          เนื่องจากดาวเคราะห์ GJ 1132b โคจรรอบดาวฤกษ์ Gliese 1132 ใกล้เกินไป จึงทำให้คาดว่าชั้นบรรยากาศน่าจะถูกพายุสุริยะจากดาวฤกษ์ทำลายไปแล้ว แต่จากการค้นพบล่าสุดแสดงให้เห็นว่าชั้นบรรยากาศคงจะทนต่อการโจมตีเป็นเวลาหลายพันล้านปีได้โดยไม่ถูกทำลาย ซึ่งก็เป็นการเปิดโอกาสให้ดาวเคราะห์อีกนับพันที่โคจรรอบดาวฤกษ์มวลต่ำอาจจะมีชั้นบรรยากาศอยู่ก็เป็นได้ และบางที "ชั้นบรรยากาศ" หนึ่งในเงื่อนไขที่เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิตก็อาจจะเป็นเรื่องปกติในจักรวาล


ที่มา: Sciencealert.com


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น