วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

Google Assistant เตรียมลงในสมาร์ทโฟนแอนดรอยด์

          เมื่อพฤษภาคมปีที่แล้ว (2559) ทาง Google ได้ทำการเปิดตัวผู้ช่วยที่มีชื่อว่า Google Assistant ซึ่งเป็น AI ที่สามารถโต้ตอบกับเราได้อย่างเป็นธรรมชาติ เป็นการคุยกัน 2 ทาง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Google Assistant) โดยในตอนแรกเจ้า Assistant นั้นจะสิงอยู่ในแอปพลิเคชันรับ-ส่งข้อความของ Google ที่ชื่อว่า Google Allo , Google Home และ Pixel กับ Pixel XL สมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ล่าสุดของทาง Google (อ่านรายละเอียดสมาร์ทโฟนเพิ่มเติมที่ สรุปงาน Made by Google) และเนื่องจากจำนวนอุปกรณ์ที่ใช้งาน Google Assistant มีไม่เยอะจึงทำให้ยากที่จะเข้าถึง แต่แล้วทาง Google ก็ไม่ปล่อยให้เราต้องรอนาน ประกาศข่าวดีว่าจะนำ Google Assistant ไปใส่ไว้ในสมาร์ทโฟนที่ใช้งาน Android 7.0 Nougat และ Android 6.0 Marshmallow ตั้งแต่สัปดาห์นี้

          Google Assistant จะมาพร้อมกับการอัปเดต Google Play Services ของสมาร์ทโฟน (Android 7.0 และ Android 6.0) โดยอัตโนมัติ (Nexus 6 ในมือกำลังสั่น ลุ้นว่าจะมีอัปเดตให้ใช้งานเหมือนอย่างเครื่องชาวบ้านเขาหรือป่าว ฮา) และจะติดตั้งมาให้ในสมาร์ทโฟนที่เปิดตัวใหม่ โดยจะเปิดให้ผู้ใช้ภาษาอังกฤษในสหรัฐฯ ใช้งานก่อน ต่อไปจึงเปิดให้ใช้งานในออสเตรเลีย, แคนาดา และสหราชอาณาจักร จากนั้นก็จะเป็นภาษาเยอรมัน และค่อย ๆ เพิ่มภาษาในปีถัดไป (คงจะไม่มีภาษาไทยล่ะมั้ง ฮา) ส่วนวิธีเรียกใช้ Assistant ก็ให้ทำการกดปุ่มโฮมค้าง หรือเรียก "OK Google" ก็จะสามารถใช้งานได้ทันที


          เป้าหมายของ Google คือการผลักดันให้ Google Assistant ไปสิงอยู่ในทุก ๆ ที่ที่คนต้องการ เช่น อุปกรณ์ Android Wear 2.0, โทรทัศน์ หรือรถยนต์เป็นต้น ซึ่งก็คล้าย ๆ กับการมี AI ผู้ช่วยอย่าง J.A.R.V.I.S. (Just A Rather Very Intelligent System ก็แค่ระบบอัจฉริยะโคตร ๆ ) อยู่ใกล้ ๆ ตัวนั่นเอง (ฮา)


ที่มา: Blog Google


วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

Google ใบ้ชื่อแอนดรอยด์รุ่นถัดไป?


          เพื่อน ๆ คงพอจะทราบกันอยู่แล้วว่าแอนดรอยด์เวอร์ชั่นปัจจุบันนี้คือเวอร์ชั่น 7 หรือในอีกชื่อนึงว่า Android Nougat (ตังเม) ซึ่งความพิเศษอยู่ตรงที่ทาง Google ได้นำชื่อขนมหวานมาตั้งเป็นชื่อรุ่นของแอนดรอยด์โดยเรียงตามลำดับตัวอักษร และเริ่มประกาศใช้ชื่อขนมหวานตั้งแต่แอนดรอยด์ 1.5 โดยมีรุ่นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้



รูป Code name Version วันที่ปล่อยให้ใช้งาน
- - 1.0 23 กันยายน 2551
- - 1.1 9 กุมภาพันธ์ 2552
Cupcake 1.5 27 เมษายน 2552
Donut 1.6 15 กันยายน 2552
Eclair 2.0 - 2.1 26 ตุลาคม 2552
Froyo 2.2 20 พฤษภาคม 2553
Gingerbread 2.3 6 ธันวาคม 2553
Honeycomb 3.0 - 3.2 22 กุมภาพันธ์ 2554
Ice Cream Sandwich 4.0 18 ตุลาคม 2554
Jelly Bean 4.1 - 4.3 9 กรกฏาคม 2555
KitKat 4.4 31 ตุลาคม 2556
Lollipop 5.0 – 5.1 12 พฤศจิกายน 2557
Marshmallow 6.0 5 ตุลาคม 2558
Nougat 7.0 – 7.1 22 สิงหาคม 2559

          และตามหลักแล้ว แอนดรอยด์เวอร์ชั่นถัดไปก็จะเป็นขนมหวานที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษร O ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ทาง Google โดยคุณ Hiroshi Lockheimer (หัวหน้าทีม Android) ได้โพสภาพขนมหวาน 2 ภาพลงบนทวีตเตอร์ นั่นคือ
ภาพขนมหวาน Oreo ซึ่งเป็นขนมหวานที่มีอักษรขึ้นต้นคือตัว O และอีกภาพนึงก็คือ
ภาพขนมหวาน Pocky ซึ่งเป็นขนมหวานที่มีอักษรขึ้นต้นคือตัว P แถมยังมี #2018 ติดอยู่อีกด้วย

          งานนี้ไม่รู้ว่าทาง Google กำลังบอกใบ้ถึงชื่อของแอนดรอยด์รุ่นถัดไป หรือจะเป็นเพียงการสับขาหลอกของหัวหน้าทีม Android .....คำตอบคงต้องมารอลุ้นกันในงาน Google I/O ของปีนี้ ซึ่งเพื่อน ๆ ก็สามารถติดตามข่าวได้ที่บล็อกนี้เช่นเคยครับผม


วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

นาซาค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิต


          เมื่อประมาณตี 1 ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 (ตามเวลาของบ้านเรา ส่วนบ้านเขายังเป็นวันที่  22 กุมภาพันธ์อยู่) นาซาประกาศการค้นพบใหม่ซึ่งเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมากจนต้องรีบเอามาเขียนกันเลยทีเดียว เพราะเราอาจจะไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายในจักรวาลอันกว้างใหญ่อีกต่อไปแล้ว เมื่อนาซาค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดพอ ๆ กับโลกถึง 7 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียว ฟังดูคุ้น ๆ กันไหมครับ.....ใช่แล้ว! คล้ายกับระบบสุริยะของเรานั่นเอง แถมยังมีดาวเคราะห์ 3 ดวงโคจรอยู่ใน "เขตอาศัยได้ (Habitable Zone)" หรือพื้นที่รอบดาวฤกษ์ซึ่งไม่ร้อนหรือเย็นเกินไปและน้ำยังคงอยู่ในสถานะของเหลวได้ นั่นหมายถึงดาวเคราะห์เหล่านั้นอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ก็เป็นได้ เอาละ เราไปดูรายละเอียดการค้นพบกันเถอะ

          กล้องอวกาศ Spitzer (สปิตเซอร์) ของนาซาค้นพบดาวเคราะห์หินขนาดเท่ากับโลก 7 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ 1 ดวงอยู่นอกระบบสุริยะของเรา ดาวเคราะห์เหล่านั้นอาจจะมีน้ำในสถานะของเหลวที่พื้นผิวดาวและมีชั้นบรรยากาศที่เหมาะสม ซึ่งดาวเคราะห์ 3 จาก 7 ดวงนี้อยู่ใน "เขตอาศัยได้" จึงมีโอกาสสูงที่จะมีน้ำและชั้นบรรยากาศในระดับเหมาะสมพอที่จะให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต


          ระบบดาวเคราะห์ที่ค้นพบนี้มีชื่อว่า "TRAPPIST-1 (แทรพพิส์ต-วัน)" โดยตั้งจากชื่อกล้องโทรทัศน์ "Transiting Planets and Planetesimals Small Telescope (TRAPPIST)" ในประเทศชิลี ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2559 นักวิจัยใช้ TRAPPIST ค้นพบดาวเคราะห์ 3 ดวงในระบบ จากนั้นกล้องอวกาศสปิตเซอร์ได้ยืนยันการมีอยู่ของดาว 2 ใน 3 ดวงและได้ค้นพบเพิ่มอีก 5 ดวง


          ระบบดาว TRAPPIST-1 นี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 40 ปีแสง (หรือคิดเป็นประมาณ 376 ล้านล้านกิโลเมตร) ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (กลุ่มดาวกุมภ์) และมีการตั้งชื่อดาวเคราะห์ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษโดยเรียงตามความห่างจากดาวฤกษ์ (ตั้งชื่อง่ายดีเนอะ)


          จากการใช้ข้อมูลของกล้องอวกาศสปิตเซอร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวัดขนาดของดาวทั้ง 7 ดวง ช่วยให้สามารถประเมินมวลของดาวเคราะห์ 6 จาก 7 ดวงได้ จึงสามารถคำนวณหาความหนาแน่นและสรุปออกมาว่าดาวเคราะห์ทั้ง 6 ดวงน่าจะเป็นดาวเคราะห์หิน ส่วนดาวดวงที่ 7 ที่อยู่ไกลที่สุดยังไม่สามารถคำนวณมวลออกมาได้ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันน่าจะมีลักษณะคล้ายก้อนหิมะ ถือว่าเป็นระบบดาวที่มีจำนวนดาวเคราะห์หินมากกว่าจำนวนดาวเคราะห์หินในระบบสุริยะของเราเสียอีก (ระบบสุริยะเรามีดาวเคราะห์หิน 4 ดวง ได้แก่ พุธ ศุกร์ โลก และอังคาร)


          ถ้าเทียบกับดวงอาทิตย์แล้ว ดาวฤกษ์ TRAPPIST-1 มีมวล 8% และรัศมียาว 11% ของดวงอาทิตย์ มีอุณหภูมิ 2,277 องศาเซลเซียส จัดว่าเป็นดาวแคระเย็นจัด เย็นขนาดที่ว่าน้ำบนดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้มาก ๆ ยังสามารถคงสถานะเป็นของเหลวได้ นอกจากนี้วงโคจรในระบบดาว TRAPPIST-1 ก็ยังใกล้ยิ่งกว่าวงโคจรของดาวพุธในระบบสุริยะของเราซะอีก (ตามรูปข้างบนเลย) ใกล้เสียจนถ้าเรายืนบนพื้นผิวของดาวดวงนึงก็ยังสามารถมองเห็นผิวหรือเมฆบนชั้นบรรยากาศของดวงเคราะห์ดวงอื่น ๆ ได้

          ดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 อาจจะถูกล็อกให้หันหน้าเพียงด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ (คล้าย ๆ กับดวงจันทร์ของโลกเรานั่นเอง) หรือก็คือพื้นที่ของดาวจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนไปตลอด และสภาพอากาศก็อาจจะแตกต่างจากโลกอย่างมาก เช่น มีลมพัดอย่างรุ่นแรงจากฝั่งที่เป็นกลางวันไปยังฝั่งที่เป็นกลางคืน หรือมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว

          นักดาราศาสตร์มีแผนจะใช้กล้องอวกาศ Spitzer, Hubble, Kepler ในการศึกษาระบบดาว TRAPPIST-1 และในปี 2561 จะมีการเปิดใช้งานกล้องอวกาศ James Webb Space Telescope ของนาซา โดยเจ้ากล้องอวกาศ James Webb นี้จะช่วยตรวจหาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำ มีเทน ออกซิเจน โอโซน และองค์ประกอบอื่น ๆ ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์อุณหภูมิและความดันที่พื้นผิวของดาวได้

          การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่อาจจะตอบปัญหาที่ว่า "เราอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายในอวกาศ" หรือไม่ จากภาพ...ดาวเคราะห์ TRAPPIST-1f ที่อยู่ตรงกลางในเขตอาศัยได้เช่นเดียวกับโลกมีโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตสูง แต่กระนั้นระยะทางประมาณ 40 ปีแสงนั้นก็ยังไกลเกินกว่าที่เทคโนโลยีในตอนนี้จะสามารถเดินไปถึงได้ หวังว่าจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยย่นเวลาในเดินทางระหว่างดาวเกิดขึ้นมาได้ในสักวันหนึ่ง


ที่มา: Nasa.gov


วันจันทร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

นักดาราศาสตร์ค้นพบ Super Earth และดาวเคราะห์ใหม่อีก 60 ดวง


          สวัสดีครับเพื่อน ๆ ช่วงนี้บล็อกอาจจะร้างนิดนึงเพราะว่ากำลังเคลียร์โปรเจคอยู่เลยไม่ค่อยได้เข้ามาเขียนบล็อกเท่าไหร่ (แหะ ๆ บล็อกสอนเขียน PHP ก็ยังคงดองต่อไป) แต่จะพยายามหาเวลาเข้ามาเขียนเรื่อย ๆ นะ ส่วนวันนี้.....มีข่าวน่าสนใจเกี่ยวกับอวกาศมาฝาก เอาละมาเข้าเรื่องกันดีกว่า

          ทีมนักดาราศาสตร์ได้ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่อีก 60 ดวงที่โคจรรอบดาวฤกษ์และอยู่ใกล้กับระบบสุริยะของโลก ซึ่งรวมไปถึงดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกหรือ "Super Earth" และในบรรดาดาวที่ค้นพบใหม่นี้มีดาวเคราะห์ดวงนึงได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษซึ่งถูกเรียกว่า Gliese 411b โดยเจ้าดาว Gliese 411b ถือเป็น Super Earth อุณหภูมิสูงที่มีพื้นผิวเป็นหิน โคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ที่มีชื่อว่า Gliese 411 และเป็นระบบดาว (กลุ่มดาวจำนวนหนึ่งที่โคจรอยู่รอบกันและกัน มีแรงดึงดูดทำให้จับกลุ่มกันไว้) ที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะของเราเป็นอันดับ 4 ซึ่งถูกบันทึกโดยมหาวิทยาลัย University of Hertfordshire

          ดาว Gliese 411 และดาว Gliese 411b อยู่ห่างจากโลก 4 ปีแสง (หน่วยวัดระยะทางในอวกาศ) หรืออธิบายง่าย ๆ ว่าแสงใช้เวลา 4 ปีในการเดินจากจากโลกไปถึงดาว Gliese 411b ซึ่งคิดเป็นระยะทางประมาณ 9.6 ล้านล้านกิโลเมตร นอกจากนี้ดาว Gliese 411b ยังมีอุณหภูมิที่พื้นผิวสูงเกินกว่าจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ และ Dr. Mikko Tuomi จาก University of Hertfordshire’s Centre for Astrophysics ได้ให้สัมภาษณ์อีกว่า "ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้พิสูจน์แล้วว่าจำนวนดาวเคราะห์ในจักรวาลมีมากกว่าจำนวนดาวฤกษ์ ซึ่งหมายความว่าแทบทุกดาวฤกษ์จะมีดาวเคราะห์โคจรอยู่รอบ ๆ "


ที่มา: Foxnews.com


วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

[ประชาสัมพันธ์] OWASP Thailand Meeting : OWASP Top Ten Proactive Controls 2016 ตอนที่ 1

          วันนี้ผมนำงานสัมนาดีประจำเดือนกุมภาพันธ์มาฝาก "OWASP Thailand Meeting : OWASP Top Ten Proactive Controls 2016 ตอนที่ 1" งานสัมนาสำหรับนักพัฒนาแอปพลิเคชั่นซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย โดยจะพูดถึงลิสต์เทคนิคด้านความปลอดภัยประจำปี 2559 ซึ่งทาง OWASP ได้จัด 10 อันดับช่องโหว่ที่พบได้บ่อยเพื่อป้องกันการถูกแฮกจากผู้ไม่ประสงค์ดี แต่ในงานสัมนาครั้งนี้จะพูดถึงความปลอดภัย 4 อันดับแรกซึ่งได้แก่
  1. Verify for Security Early and Often
  2. Parameterize Queries
  3. Encode Data
  4. Validate All Inputs

          งานสัมนา "OWASP Thailand Meeting" ภายใต้หัวข้อ "OWASP Top Ten Proactive Controls 2016 ตอนที่ 1" ครั้งนี้จัดโดย OWASP Thailand ที่สำคัญคือ งานสัมนาครั้งนี้ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ (ยกเว้นค่าเดินทาง ฮะฮะ)

วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560
เวลา 18:00 - 21:00 น.
สถานที่ ชั้นที่ 16 ห้อง 1601 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถนนวิภาวดีรังสิต แผนที่
ลงทะเบียนได้ที่ Register Link

Agenda

18.00 – 18.45 น. ลงทะเบียน
18.45 – 19.00 น. กล่าวต้อนรับ โดย OWASP Thailand Chapter Leader
19.00 – 20.00 น. บรรยายช่วงแรก ในหัวข้อ "OWASP Top Ten Proactive Controls 2016 ตอนที่ 1 " โดยคุณ Pichaya Morimoto
20.00 – 20.10 น. พักการบรรยาย
20.10 – 21.00 น. บรรยายช่วงที่สองในหัวข้อ "OWASP Top Ten Proactive Controls 2016 ตอนที่ 1 " โดยคุณ Pichaya Morimoto
21.00 – 21.10 น. กล่าวปิดงาน โดย OWASP Thailand Chapter Leader และถ่ายภาพร่วมกัน


ที่มา:  OWASP Thailand Meeting 2/2017 (Free Event)


วันอังคารที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

Google Doodle พิเศษในวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ 2560


          หายจากการเขียนบล็อกไปสักพักนึงเพราะอาการป่วย+มีงานล้นมือ วันนี้เลยมาเขียนอะไรเบา ๆ รื้อฟื้นบล็อกซะหน่อย ว่าแต่.....วันนี้วันอะไรเอ่ย ถูกต้องงง! วันที่ 14 กุมภาพันธ์ วาเลนไทน์วันแห่งความรักนั่นเอง วันที่เหล่าคนโสดไม่ค่อยอยากเปิด Facebook เพราะไม่อาจทนเห็นภาพสวีทหวานแหววของคู่รักให้บาดตาบาดใจเล่น (ฮา) และเนื่องในวันพิเศษ (?) แบบนี้ทาง Google ก็ใส่ลูกเล่นพิเศษเข้าไปในโลโก้หน้าเว็บ Google.com หรือที่เรียกว่า Google Doodle ซึ่งเป็นการเฉลิมฉลองหรือระลึกถึงเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นในวันนั้น ๆ โดยในวันแห่งความรักนี้ Google ได้ใส่เกมน่ารัก ๆ "ความรักของตัวนิ่ม" ให้พวกเราได้เล่นกัน

          ในเกม "ความรักของตัวนิ่ม" นี้จะมีให้เล่นทั้งหมด 4 ฉาก ซึ่งผู้เล่นจะรับบทเป็นตัวนิ่มหนุ่มที่กำลังหาของขวัญไปให้ตัวนิ่มสาวในวันวาเลนไทน์ โดยในแต่ละด่านตัวนิ่มหนุ่มจะต้องหลบหลีกสิ่งกีดขวางและคอยเก็บไอเทมให้ครบภายในเวลาที่กำหนด ถึงจะสร้างของขวัญไปให้คู่รักได้ ถ้าเล่นบนคอมพิวเตอร์จะใช้คีย์บอร์ดลูกศรซ้ายหรือขวาในการบังคับทิศทาง และใช้คีย์บอร์ดลูกศรขึ้นหรือ spacebar ในการกระโดด ส่วนถ้าเล่นในสมาร์ทโฟนให้แตะที่จอเพื่อกระโดด และเอียงซ้ายเอียงขวาเพื่อบังคับทิศทาง


ปล. เกมนี้เปิดให้เล่นถึงวันวาเลนไทน์ (14 กุมภาพันธ์ 2560) นี้เท่านั้น
ปล.2 เพื่อน ๆ คนไหนอยากดู Google Doodle ย้อนหลังสามารถเข้าไปดูได้ที่ Google.com/doodles