วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560

ระบบดาว TRAPPIST-1 ไม่ได้เป็นไปตามที่พวกเราหวังไว้


          เพื่อน ๆ น่าจะยังจำข่าวในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 ที่มีการค้นพบระบบสุริยะขนาดเล็กอันประกอบไปด้วยดาวเคราะห์ 7 ดวงโคจรรอบดาวแคระเย็นจัดที่เรียกว่า TRAPPIST-1 ได้สินะครับ (ถ้าจำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร กลับไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่) ตอนนั้นทางนาซาคาดหวังว่าดาวเคราะห์ 3 ดวงน่าจะมีคุณสมบัติเพียงพอที่จะอยู่อาศัยได้ เช่น มีน้ำในสภาพของเหลว มีอุณหภูมิที่เหมาะสม เป็นต้น แต่หลังจากได้มีการศึกษาเพิ่มเติมแล้วพบว่าระบบดาว TRAPPIST-1 มีความผันผวนมาก และดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกทั้ง 3 ดวงนั้นกลับไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่อาศัยซะแล้ว

          ทีมที่นำโดยนักดาราศาสตร์คุณ Krisztián Vida จาก Observatory Konkoly ในฮังการีได้ทำการวิเคราะห์รูปแบบการส่องสว่างในข้อมูลดิบของ TRAPPIST-1 (ซึ่งได้จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ของนาซา) แล้วพบว่าในช่วงเวลา 80 วัน มีการระเบิดเปลวไฟพลังงานสูง 42 ครั้ง และการปะทุครั้งใหญ่ที่สุดก็มีพลังมากพอ ๆ กับ "มหาพายุสุริยะ" จากดวงอาทิตย์ที่เคยเกิดขึ้นในปีพ.ศ. 2402 ซึ่งสามารถทำให้ไฟฟ้าดับและระบบสื่อสารเสียหายได้

          เนื่องจากดาวเคราะห์ 3 ดวงที่น่าจะอยู่อาศัยได้อยู่ในระยะใกล้กับจุดที่เกิดการระเบิดเกินไป ดังนั้นผลกระทบที่เกิดจากพายุสุริยะของ TRAPPIST-1 จึงมีความรุนแรงมากกว่าผลกระทบของพายุสุริยะที่ส่งกระทบกับโลกเป็นร้อยหรือพันเท่า นอกจากนี้ระยะเวลาเฉลี่ยที่เกิดพายุสุริยะคือทุก ๆ 28 ชั่วโมง

          จากการศึกษาเมื่อปีที่แล้วพบว่าชั้นบรรยากาศจะใช้เวลา 30,000 ปีในการฟื้นตัวจากการถูกพายุสุริยะ นั่นหมายความว่าการปะทุระเบิดอย่างต่อเนื่องนี้น่าจะทำลายเสถียรภาพในชั้นบรรยากาศบนดาวเคราะห์ในระบบ นอกเสียจากว่าดาวเคราะห์จะมีสนามแม่เหล็กความเข้มข้นที่สูงมากกว่าของโลก จึงจะสามารถปกป้องชั้นบรรยากาศได้ (ซึ่งก็เป็นไปได้ยากซะเหลือเกิน)

          การศึกษายังอยู่ระหว่างการทบทวนเผื่อว่าผลลัพธ์อาจมีการเปลี่ยนแปลง แต่ท่าทางจะหมดหวังแล้วสำหรับการอยู่อาศัยหรือการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ TRAPPIST-1


ที่มา: Sciencealert.com


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น