วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

นาซาค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิต


          เมื่อประมาณตี 1 ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2560 (ตามเวลาของบ้านเรา ส่วนบ้านเขายังเป็นวันที่  22 กุมภาพันธ์อยู่) นาซาประกาศการค้นพบใหม่ซึ่งเป็นการค้นพบที่น่าตื่นเต้นมากจนต้องรีบเอามาเขียนกันเลยทีเดียว เพราะเราอาจจะไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายในจักรวาลอันกว้างใหญ่อีกต่อไปแล้ว เมื่อนาซาค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบที่มีขนาดพอ ๆ กับโลกถึง 7 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ดวงเดียว ฟังดูคุ้น ๆ กันไหมครับ.....ใช่แล้ว! คล้ายกับระบบสุริยะของเรานั่นเอง แถมยังมีดาวเคราะห์ 3 ดวงโคจรอยู่ใน "เขตอาศัยได้ (Habitable Zone)" หรือพื้นที่รอบดาวฤกษ์ซึ่งไม่ร้อนหรือเย็นเกินไปและน้ำยังคงอยู่ในสถานะของเหลวได้ นั่นหมายถึงดาวเคราะห์เหล่านั้นอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ก็เป็นได้ เอาละ เราไปดูรายละเอียดการค้นพบกันเถอะ

          กล้องอวกาศ Spitzer (สปิตเซอร์) ของนาซาค้นพบดาวเคราะห์หินขนาดเท่ากับโลก 7 ดวงโคจรรอบดาวฤกษ์ 1 ดวงอยู่นอกระบบสุริยะของเรา ดาวเคราะห์เหล่านั้นอาจจะมีน้ำในสถานะของเหลวที่พื้นผิวดาวและมีชั้นบรรยากาศที่เหมาะสม ซึ่งดาวเคราะห์ 3 จาก 7 ดวงนี้อยู่ใน "เขตอาศัยได้" จึงมีโอกาสสูงที่จะมีน้ำและชั้นบรรยากาศในระดับเหมาะสมพอที่จะให้กำเนิดสิ่งมีชีวิต


          ระบบดาวเคราะห์ที่ค้นพบนี้มีชื่อว่า "TRAPPIST-1 (แทรพพิส์ต-วัน)" โดยตั้งจากชื่อกล้องโทรทัศน์ "Transiting Planets and Planetesimals Small Telescope (TRAPPIST)" ในประเทศชิลี ซึ่งในเดือนพฤษภาคม 2559 นักวิจัยใช้ TRAPPIST ค้นพบดาวเคราะห์ 3 ดวงในระบบ จากนั้นกล้องอวกาศสปิตเซอร์ได้ยืนยันการมีอยู่ของดาว 2 ใน 3 ดวงและได้ค้นพบเพิ่มอีก 5 ดวง


          ระบบดาว TRAPPIST-1 นี้อยู่ห่างจากโลกประมาณ 40 ปีแสง (หรือคิดเป็นประมาณ 376 ล้านล้านกิโลเมตร) ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ (กลุ่มดาวกุมภ์) และมีการตั้งชื่อดาวเคราะห์ตามตัวอักษรภาษาอังกฤษโดยเรียงตามความห่างจากดาวฤกษ์ (ตั้งชื่อง่ายดีเนอะ)


          จากการใช้ข้อมูลของกล้องอวกาศสปิตเซอร์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถวัดขนาดของดาวทั้ง 7 ดวง ช่วยให้สามารถประเมินมวลของดาวเคราะห์ 6 จาก 7 ดวงได้ จึงสามารถคำนวณหาความหนาแน่นและสรุปออกมาว่าดาวเคราะห์ทั้ง 6 ดวงน่าจะเป็นดาวเคราะห์หิน ส่วนดาวดวงที่ 7 ที่อยู่ไกลที่สุดยังไม่สามารถคำนวณมวลออกมาได้ แต่นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ามันน่าจะมีลักษณะคล้ายก้อนหิมะ ถือว่าเป็นระบบดาวที่มีจำนวนดาวเคราะห์หินมากกว่าจำนวนดาวเคราะห์หินในระบบสุริยะของเราเสียอีก (ระบบสุริยะเรามีดาวเคราะห์หิน 4 ดวง ได้แก่ พุธ ศุกร์ โลก และอังคาร)


          ถ้าเทียบกับดวงอาทิตย์แล้ว ดาวฤกษ์ TRAPPIST-1 มีมวล 8% และรัศมียาว 11% ของดวงอาทิตย์ มีอุณหภูมิ 2,277 องศาเซลเซียส จัดว่าเป็นดาวแคระเย็นจัด เย็นขนาดที่ว่าน้ำบนดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้มาก ๆ ยังสามารถคงสถานะเป็นของเหลวได้ นอกจากนี้วงโคจรในระบบดาว TRAPPIST-1 ก็ยังใกล้ยิ่งกว่าวงโคจรของดาวพุธในระบบสุริยะของเราซะอีก (ตามรูปข้างบนเลย) ใกล้เสียจนถ้าเรายืนบนพื้นผิวของดาวดวงนึงก็ยังสามารถมองเห็นผิวหรือเมฆบนชั้นบรรยากาศของดวงเคราะห์ดวงอื่น ๆ ได้

          ดาวเคราะห์ในระบบ TRAPPIST-1 อาจจะถูกล็อกให้หันหน้าเพียงด้านเดียวเข้าหาดาวฤกษ์ (คล้าย ๆ กับดวงจันทร์ของโลกเรานั่นเอง) หรือก็คือพื้นที่ของดาวจะเป็นกลางวันหรือกลางคืนไปตลอด และสภาพอากาศก็อาจจะแตกต่างจากโลกอย่างมาก เช่น มีลมพัดอย่างรุ่นแรงจากฝั่งที่เป็นกลางวันไปยังฝั่งที่เป็นกลางคืน หรือมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว

          นักดาราศาสตร์มีแผนจะใช้กล้องอวกาศ Spitzer, Hubble, Kepler ในการศึกษาระบบดาว TRAPPIST-1 และในปี 2561 จะมีการเปิดใช้งานกล้องอวกาศ James Webb Space Telescope ของนาซา โดยเจ้ากล้องอวกาศ James Webb นี้จะช่วยตรวจหาองค์ประกอบทางเคมีของน้ำ มีเทน ออกซิเจน โอโซน และองค์ประกอบอื่น ๆ ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์อุณหภูมิและความดันที่พื้นผิวของดาวได้

          การค้นพบครั้งนี้ถือเป็นการค้นพบครั้งสำคัญที่อาจจะตอบปัญหาที่ว่า "เราอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายในอวกาศ" หรือไม่ จากภาพ...ดาวเคราะห์ TRAPPIST-1f ที่อยู่ตรงกลางในเขตอาศัยได้เช่นเดียวกับโลกมีโอกาสที่จะมีสิ่งมีชีวิตสูง แต่กระนั้นระยะทางประมาณ 40 ปีแสงนั้นก็ยังไกลเกินกว่าที่เทคโนโลยีในตอนนี้จะสามารถเดินไปถึงได้ หวังว่าจะมีเทคโนโลยีที่ช่วยย่นเวลาในเดินทางระหว่างดาวเกิดขึ้นมาได้ในสักวันหนึ่ง


ที่มา: Nasa.gov


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น