วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

ค้นพบ LHS 1140b ดาวเคราะห์นอกระบบที่อาจจะอยู่อาศัยได้


          ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคอันน่ามหัศจรรย์ที่เทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ก้าวกระโดดอย่างมากเมื่อเทียบกับสัก 20 ปีก่อนที่เรายังใช้โทรศัพท์ซิมเปี้ยนกันอยู่ นักวิทยาศาสตร์สามารถค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่การจะค้นพบโลกที่สามารถอยู่อาศัยได้นั้นกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะไม่ใช่ดาวทุกดวงที่จะมีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการดำรงชีวิต และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์หรือนักดาราศาสตร์รู้สึกตื่นเต้นเวลาค้นพบดวงดาวที่ "อาจจะ" อยู่อาศัยได้เช่นดาว LHS 1140b ดวงนี้

          ดาว LHS 1140b ถือเป็นดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกหรือที่เรียกกันว่า "Super Earth" ซึ่งมีมวลมากกว่าโลกถึง 7 เท่า (โลกมีมวลประมาณ 5.98 x 1024 กิโลกรัม เพราะงั้นดาวดวงนี้ก็มีมวลประมาณ 41.86 x 1024 กิโลกรัม) แต่กลับมีขนาดมากกว่าโลกแค่ 1.4 เท่าเอง แสดงว่าดาวดวงนี้มีความหนาแน่นสูง และเป็นไปได้ว่าแกนกลางของดาวจะเป็นเหล็กหนาแน่น

          จุดที่น่าสนใจคือเจ้าดาว LHS 1140b เนี่ยโคจรอยู่ในเขตอาศัยได้รอบ ๆ ดาวฤกษ์แม่ที่เป็นดาวแคระแดงเรียกว่า LHS 1140 ซึ่งอยู่ในกลุ่มดาว Cetus (กลุ่มดาววาฬ) ห่างออกไปจากโลกประมาณ 40 ปีแสง .....ว่าแต่ 40 ปีแสงเนี่ย เป็นระยะทางที่ ค้นพบระบบดาว TRAPPIST-1 นี่นา หรือว่านี่จะเป็นระยะเหมาะสมสำหรับการตามหาดาวต้องสงสัยว่าอาจจะมีสิ่งมีชีวิตล่ะเนี่ย (ฮา)..... อ้าว เผลอนอกเรื่อง กลับมาเรื่องเดิม ดาว LHS 1140b โคจรรอบดาวแม่ในระยะที่ใกล้มาก ใกล้มากกว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ถึง 10 เท่าเลย ซึ่งในระยะนี้ความจริงจะต้องถูกดาวฤกษ์แผดเผาทั้งชั้นบรรยากาศและน้ำไปหมดแล้ว แต่เป็นเพราะดาวฤกษ์มีขนาดเล็กและเย็นกว่าดวงอาทิตย์ จึงทำให้ดาว LHS 1140b ได้รับแสงจากดาวฤกษ์เพียงแค่ครึ่งเดียวของที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์

          จากการตรวจสอบทำให้คาดการณ์ว่าดาวเคราะห์นอกระบบดวงนี้น่าจะมีอายุราว ๆ 5 พันล้านปี โดยในอดีตที่ดาวฤกษ์ยังอายุน้อยอาจจะมีความแปรปรวนมากกว่าที่เป็นอยู่ในตอนนี้ เช่น มีการระเบิดพายุสุริยะที่ทำลายชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ เป็นต้น ซึ่งทีมนักวิจัยคาดหวังว่าดาวเคราะห์จะสามารถเก็บรักษาชั้นบรรยากาศเอาไว้ได้ และจะใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลและกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ที่จะเริ่มใช้งานในปีพ.ศ. 2567 ของ ESO ในการศึกษาดาวเคราะห์ต่อไป

          หวังว่าอีกไม่นานจะมีข่าวของดาวเคราะห์ดวงนี้ออกมาอีกนะ แต่ไม่อยากให้เป็นข่าวแบบเดียวกับ ข่าวร้ายของระบบดาว TRAPPIST-1 เลย


ที่มา: Sciencealert.com


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น