วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2560

ภารกิจสุดท้ายก่อนจะปลดวาง!! Cassini เข้าสู่ช่วง Grand Finale แล้ว


          บทความนี้อาจจะมาช้าไปสักนิด แต่ก็ยังดีกว่าไม่มาเนอะ เนื่องจากยานอวกาศแคสซินีได้เข้าสู่ช่วงสุดท้ายของภารกิจสำรวจดาวเสาร์ที่เรียกกันว่า Grand Finale ก่อนจะปลดระวางภารกิจแล้วก็พุ่งลงเข้าไปสัมผัสดาวเสาร์จนไหม้เป็นผุยผง ก่อนหน้าจะไปดูรายละเอียดเรามาทำความรู้จักกับยานอวกาศลำนี้กันก่อนดีกว่าเนอะ

          ยานอวกาศแคสซินีเป็นยานอวกาศร่วมระหว่างนาซากับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศอิตาลี (ASI) เพื่อศึกษาดาวเสาร์และดาวบริวาร มีกำหนดการปฏิบัติภารกิจนาน 20 ปี ถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศในปี 2540 ใช้เวลาเดินทางรอนแรมในห้วงอวกาศอันมืดมิดอย่างโดดเดี่ยวเดียวดายนานถึง 7 ปี จนในที่สุดก็เข้าสู่วงโคจรของดาวเสาร์ในปี 2547 ตัวยานได้รับพลังงานโดยการเปลี่ยนความร้อนจากการสลายกัมมันตรังสีของพลูโตเนียมให้เป็นพลังงานไฟฟ้า ซึ่งข้อมูลที่ได้รับจากยานแคสสินีทำให้เรารู้ว่าแต่ละบริเวณของดาวเสาร์ไม่ได้หมุนรอบตัวไปพร้อม ๆ กัน เนื่องจากบรรยากาศของดาวเสาร์มีพายุหมุนซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพายุเฮอร์ริเคนบนโลก


          หลังจากยานอวกาศแคสซินีได้โคจรรอบดวงจันทร์ไททันของดาวเสาร์เป็นครั้งสุดท้ายในเวลา 23:08 น. ของวันที่ 21 เมษายนที่ผ่านมา (ซึ่งตรงกับช่วงบ่ายของวันที่ 22 เมษายนตามเวลาของบ้านเรา) ณ ความสูง 979 กิโลเมตรห่างจากพื้นผิวดวงจันทร์ ยานอวกาศแคสซินีก็ได้ส่งภาพถ่ายทะเลสาปที่มีไฮโดรคาร์บอนเป็นองค์ประกอบกลับมาที่โลก ก่อนจะเข้าสู่ช่วง Grand Finale ภารกิจสุดท้ายก่อนจะจบตำนานการเดินทางอันยาวนานถึง 20 ปี

Grand Finale


          Grand Finale ช่วงสุดท้ายของการปฏิบัติภารกิจคือการโคจรระหว่างวงแหวนกับดาวเสาร์จำนวน 22 รอบ ซึ่งจะกินระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน - 15 กันยายน 2560 ก็ประมาณ 5 เดือน การจะโคจรรอบดาวเสาร์ในระยะห่างดังกล่าวจำเป็นจะต้องใช้ความเร็วสูงเพียงพอ ถ้าเร็วเกินไปก็จะหลุดออกจากวงโคจรที่กำหนดไว้ แต่ถ้าช้าเกินไปก็โบกมือบ๊ายบายได้เลย เพราะยานจะถูกแรงดึงดูดของดาวเสาร์ดึงลงไปยังพื้นผิว ซึ่งยานจะอาศัยแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์ไททันเหวี่ยงให้มีความเร็วมากถึง 860.5 เมตรต่อวินาทีเพื่อเปลี่ยนเส้นทางไปโคจรในระยะใกล้

          หลังจากเปลี่ยนเส้นทางไปโคจรรอบดาวเสาร์ในระยะใกล้แล้ว ยานแคสซินีจะทำการส่งข้อมูลภาพถ่ายดาวเสาร์ในระยะใกล้กลับมาให้เราได้ชมกันในวันที่ 27 เมษายน 2560 ซึ่งถือว่าเป็นภาพถ่ายในระยะใกล้ที่สุดนับตั้งแต่เริ่มสำรวจมา และในวันที่ 15 กันยายน 2560 ยานแคสซินีก็จะทำการลดความเร็วแล้วพุ่งตกลงไปบนดาวเสาร์เป็นการปิดฉากภารกิจสำรวจอันยาวนานถึง 20 ปี


           เหตุผลที่นาซาต้องส่งยานแคสซินีไปโหม่งดาวเสาร์ก็เพราะว่าเอนเซลาดัสดวงจันทร์ของดาวเสาร์มีสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิต นาซาจึงมีโครงการจะส่งยานไปสำรวจว่าเอนเซลาดัสจะมีชีวิตอาศัยอยู่หรือเปล่า ถ้าเกิดปล่อยให้ยานแคสซินีที่ปลดระวางแล้วลอยเท้งเต้งอยู่แถวนั้นอาจจะลอยไปชนเข้ากับเอนเซลาดัส แล้วทำให้แบคทีเรีย, จุลินทรีย์, ไวรัส หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ติดมากับยานหลุดออกไปปนเปื้อนกับสภาพแวดล้อมบนเอนเซลาดัส พอส่งยานไปสำรวจแล้วเจอสิ่งมีชีวิต เจ้าสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นอาจจะเป็นพวกแบคทีเรียจากโลกของเราเองก็ได้ เพราะงั้นเลยต้องสั่งให้ยานแคสซินีโหม่งดาวเสาร์เพื่อให้ถูกทำลายจนไม่หลงเหลือซากปนเปื้อนอะไรอีก

          เพื่อน ๆ สามารถเช็คตำแหน่งล่าสุด, เวลาในการปฏิบัติภารกิจ และเวลาที่เหลืออยู่ของยานแคสซินีได้ ที่นี่


ที่มา: Nasa.gov


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น