วันอาทิตย์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2560

Cassini ส่งภาพถ่ายดาวเสาร์กลับมาหลังจากเข้าสู่วงโคจรระยะใกล้


         หลังจาก ยานสำรวจดาวเสาร์แคสซินีเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของภารกิจ โดยการเปลี่ยนเส้นทางไปโคจรระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวนเรียบร้อยแล้ว จานรับสัญญาณ Deep Space Network Goldstone Complex ของนาซาก็ได้รับสัญญาณจากยานแคสซินีในเวลา 23:56 น. ของวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา (ซึ่งตรงกับเวลา 13:56 ของวันที่ 27 เมษายนตามเวลาของบ้านเรา) และได้มีการส่งภาพถ่ายดาวเสาร์ในระยะใกล้ที่สุดกลับมายังโลก



          ในขณะที่ลอยผ่านเข้าไปในช่องว่างระหว่างดาวเสาร์และวงแหวน ยานแคสสินีอยู่ห่างจากเมฆชั้นบนของดาวเสาร์ประมาณ 3,000 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากขอบวงแหวนด้านในที่มองเห็นได้ด้วยตาประมาณ 300 กิโลเมตร ซึ่งตำแหน่งดังกล่าวมีความดันบรรยากาศเทียบเท่ากับความดันบรรยากาศที่ระดับน้ำทะเลของโลก

          ถึงผู้ควบคุมภารกิจมั่นใจว่ายานแคสซินีจะสามารถผ่านช่องว่างดังกล่าวได้สำเร็จ แต่พวกเขาก็ยังเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษกับการผ่านเข้าไปในวงโคจรระยะใกล้แบบที่ไม่เคยมียานอวกาศลำใดผ่านเข้าไปสำรวจมาก่อน

          ช่องว่างระหว่างวงแหวนกับชั้นบรรยากาศของดาวเสาร์มีระยะห่างประมาณ 2,000 กิโลเมตร จากแบบจำลองที่ดีที่สุดแสดงให้เห็นว่า ถ้ามีอนุภาคของวงแหวนอยู่ในบริเวณที่ที่ยานแคสซินีจะบินผ่านเข้าไป แม้อนุภาคเหล่านั้นจะมีขนาดเล็กประมาณอนุภาคหมอกควัน แต่ถ้าหากมีอนุภาคพุ่งเข้าปะทะส่วนที่อ่อนไหวของยานอวกาศที่บินด้วยความเร็วประมาณ 124,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ก็สามารถทำให้ยานเสียหายได้

          เพื่อเป็นการป้องกันเหตุการณ์อันเลวร้ายดังกล่าว ยานแคสซินีได้หมุนจานรับสัญญาณขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เมตรมาเป็นโล่ป้องกันบังในทิศทางที่อาจจะมีอนุภาคพุ่งเข้าใส่ ทำให้ไม่สามารถติดต่อกับยานในช่วงที่ยานบินผ่านเข้าไปในช่องว่างระหว่างวงแหวนกับดาวเสาร์ได้ โดยกว่า 20 ชั่วโมงที่ขาดการติดต่อ ยานอวกาศได้เก็บข้อมูลวิทยาศาสตร์ในขณะเคลื่อนเข้าใกล้ดาวเสาร์ไว้ให้มากที่สุด ซึ่งเพื่อน ๆ สามารถเข้าไปดูภาพของดาวเสาร์ในระยะประชิดได้ ที่นี่

          จริง ๆ ตั้งใจจะเขียนบทความนี้ตั้งแต่เมื่อวาน แต่เพราะเมื่อวานผมไปร่วมวิ่งในงาน Singha Obstacle Run IX (สิงห์ เก่ง แกร่ง กล้า สนามที่ 9) ซึ่งเป็นงานวิ่งวิบาก ลงคลอง มุดฟาง ไต่เชือก ทำเอาเหนื่อยหมดแรงแล้วก็เลอะเต็มตัว แถมกว่าจะกลับบ้านก็ปาไป 4 ทุ่มเลยหมดแรงเขียนบทความ ตอนนี้ยังเมื่อยล้าอยู่เลย ฮะฮะ


ที่มา: Nasa.gov


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น