วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2560

นักวิจัยค้นพบหนอนที่สามารถกินพลาสติกได้!!


          ในปัจจุบันเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างก้าวไกลได้สร้างสรรค์สิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ชีวิตของมนุษย์เราอย่างมากมาย หนึ่งในสิ่งของเหล่านั้นก็คือ "พลาสติก" แต่เพื่อน ๆ รู้หรือเปล่าว่าพลาสติกนั้นใช้เวลาเป็นร้อย ๆ ปีในการย่อยสลาย ถ้าอยากกำจัดอย่างรวดเร็วด้วยวิธีการเผา ก็จะก่อมลพิษทางอากาศและสาเหตุของภาวะโลกร้อน ซึ่งตอนนี้ที่ประเทศไทยเองก็ร้อนตับแตกอยู่แล้วก็เถอะ แต่ท่ามกลางความมืดมิดในการกำจัดพลาสติก ได้มีแสงเล็ก ๆ เปล่งประกายขึ้นมา เมื่อนักวิจัยได้ค้นพบสิ่งที่อาจเป็นกุญแจในการกำจัดพลาสติกหรือก็คือเจ้าหนอนน้อยตัวเล็ก ๆ นั่นเอง

          นักวิทยาศาสตร์จากสถาบัน Institute of Biomedicine and Biotechnology of Cantabria (IBBTEC) ของสเปนและมหาวิทยาลัย Cambridge ของสหราชอาณาจักรได้ค้นพบว่าเจ้าหนอนน้อยตัวอ่อนของผีเสื้อกลางคืน Galleria mellonella มีความสามารถในการย่อยสลายโพลิเอธิลีนซึ่งเป็นวัสดุที่ใช้ในถุงพลาสติก โดยเจ้าหนอนน้อยสามารถเจาะถุงพลาสติกเป็นรูได้ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง ซึ่งเร็วกว่าแบคทีเรียย่อยพลาสติกที่ค้นพบเมื่อเดือนมีนาคมของปีที่แล้ว

          เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าหนอนผีเสื้อสามารถย่อยสลายพลาสติกได้ นักวิทยาศาสตร์ได้ให้หนอนผีเสื้อกินถุงพลาสติกเข้าไปแล้วก็จัดการตัดฉับ (!) ผ่าหนอนออกมาดู (โหดชะมัด) แล้วก็พบว่าสายโพลิเมอร์ในพลาสติกถูกย่อยสลายไป จึงสรุปได้ว่าหนอนผีเสื้อสามารถย่อยพลาสติกได้จริง

          แต่เดี๋ยวก่อน ปัจจุบันนี้เราผลิตถุงพลาสติกออกมาประมาณ 80 ล้านตันทั่วโลก ครั้นจะเพาะพันธุ์ตัวหนอนให้มากินถุงพลาสติกก็คงจะไม่ใช่ความคิดที่ดีนัก (ลองจินตนาการถึงหนอนน้อยเป็นล้าน ๆ ตัวเติบโตเป็นผีเสื้อบินว่อนทั่วโลกดูสิ ฮา) นักวิจัยจึงได้วางแผนค้นหาความลับที่ซุกซ่อนอยู่ในหนอน ซึ่งความสามารถในการย่อยพลาสติกของหนอนอาจจะมาจากสารในน้ำลายหรือแบคทีเรียบางชนิดก็เป็นได้

          หวังว่านักวิทยาศาสตร์หัวใสของโลกจะสามารถไขปริศนาตัวต่อพันปี เอ๊ยไม่ใช่ ไขปริศนาตัวหนอนนี้ได้นะ เพื่อที่จะได้นำไปใช้ลดขยะของโลกให้น้อยลง


ที่มา: Cnet.com


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น