วันพุธที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2560

3 ปัจจัยที่ทำให้เราอยากกินขนม


          เพื่อน ๆ เคยเป็นกันหรือเปล่าครับ กับอาการอยากกินของกินเล่น ไม่ว่าจะเป็น ขนมหวาน มันฝรั่งทอด ฯลฯ ซึ่งก็รู้อยู่ว่าไม่ควรกิน แต่ใจเจ้ากรรมก็ดั๊นอยากกินเสียเหลือเกิน ไม่รู้ว่าความอยากมันมาจากไหน พอรู้ตัวอีกทีมือก็คว้าหมับไปที่ขนมแล้ว สุดท้ายก็มาสำนึกเสียใจเอาตอนที่ขึ้นชั่งน้ำหนักแล้วพบว่าตัวเลขพุ่งขึ้นสูงกว่าครั้งที่แล้ว ถ้าเพื่อน ๆ ไม่อยากเป็นอย่างในข้อความข้างต้น เรามาดูกันดีกว่าว่าปัจจัยที่ทำให้เรากระหายอยากกินขนมมีอะไรกันบ้าง

1. การปล่อยให้ตัวเองหิว

          หากให้เปรียบเทียบร่างกายของมนุษย์ก็คงเปรียบได้กับรถยนต์ เพราะร่างกายของเราต้องการเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนทำกิจกรรมต่าง ๆ แล้วเชื้อเพลิงที่ว่านั่นคืออะไรกันล่ะ? เชื้อเพลิงที่ร่างกายของเราต้องการก็ได้แก่ คาร์โบไฮเดรตที่มีเส้นใยสูง, โปรตีนไขมันต่ำ และไขมันดีเป็นต้น นอกจากนี้ร่างกายเรายังต้องการสมดุลในพลัง เอ๊ยไม่ใช่ สมดุลของพลังงานที่รับเข้าไปกับพลังงานที่ใช้ออกมา ซึ่งถ้าเรากินพลังงานเข้าไปมากแต่ใช้ออกมาน้อย พลังงานที่เหลือก็จะถูกเก็บอยู่ในรูปของไขมัน

          ถ้าเพื่อน ๆ กำลังไดเอทด้วยวิธีงดอาหาร, กินให้น้อย หรือเว้นช่วงระหว่างมื้ออาหารนานเกินไป ร่างกายของเราที่เริ่มขาดพลังงานก็จะส่งสัญญาณความหิวออกมา กระตุ้นให้เพื่อน ๆ กระหายเชื้อเพลิงที่สามารถย่อยให้เกิดพลังงานได้อย่างรวดเร็วอันได้แก่ธัญพืชขัดสีหรือของหวาน ซึ่งก็หมายถึงการปล่อยให้ตัวเองหิวจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากขนมกินเล่นนั่นเอง (....."อย่าให้ความหิว ทำให้คุณเปลี่ยนไป ถึงเวลารองท้อง ถึงเวลา Snickers" เอ๊ยไม่ใช่สิ นี่มันขนมกินเล่น)

2. ไม่รู้ว่าของกินเล่นทำให้เสพติดได้อย่างไร

          สมองของมนุษย์เราชอบที่จะเพลิดเพลินไปกับสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข ซึ่งการกินขนมหวานเองก็ทำให้เรามีความสุข แต่คำถามคือทำไมการกินขนมหวานถึงทำให้เรามีความสุขได้ล่ะ ถ้าตอบง่าย ๆ เลยก็คือขนมหวานมีรสชาติดี แต่ถ้าตอบให้ลึกลงไปอีกหน่อยก็เป็นเพราะน้ำตาลที่อยู่ในขนมหวานจะไปกระตุ้นให้สมองหลั่งสารโดพามีนที่ทำให้เรารู้สึกดี ส่งผลให้เราต้องการที่จะสัมผัสความรู้สึกดีแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ

          ยิ่งเราต้องการรู้สึกดีเรื่อย ๆ เราก็จะยิ่งกินมากขึ้น เมื่อเรากินมากขึ้นก็จะทำให้อ้วนขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่าผู้ที่อ้วนจะมีตัวรับโดพามีนน้อยลง ถ้าตัวรับโดพามีนน้อยก็หมายความว่าเราจะได้รับความสุขน้อยลง เราก็จะยิ่งกิน กิน กิน กิน เพื่อที่จะได้สัมผัสความสุข สุดท้ายก็กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่วนต่อไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จบ

3. ไม่ฟังร่างกายของตัวเอง

          การไม่ฟังร่างกายของตัวเองหมายถึงการที่เราทำให้ร่างกายของเราอยู่นอกเหนือจากสภาวะปกติ เช่น เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยเกินไป ก็จะมีแนวโน้มที่เราจะหันไปหาของหวานหรือของที่ทำให้เราได้รับพลังงานมากขึ้น หรือเมื่อเรารู้สึกเครียดมากเกินไป ต่อมหมวกไตของเราก็จะทำงานหนักเพื่อสร้างฮอร์โมนออกมาต่อสู้กับความเครียด ซึ่งจะส่งผลให้เรามีอาการอยากกินของหวานหรืออาหารเค็ม ๆ ได้

          สุดท้ายก็คือภาวะน้ำตาลในเลือดสูงหรือต่ำเกินไป ซึ่งเรามาดูที่ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำกันก่อนดีกว่า ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกิดจากการกินอาหารร้อยและออกกำลังกายมากไป ซึ่งจะทำให้ร่างกายรู้สึกเครียด หิว ซึมเศร้า เหนื่อยล้าแล้วก็ส่งผลต่อต่อมหมวกไตเหมือนอย่างที่ได้อธิบายไปเมื่อสักครู่ ส่วนภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกิดจากการกินอาหารมากและออกกำลังกายน้อยไป ก็จะทำให้รู้สึกเหนื่อย อ่อนล้า อยากอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ส่งผลเหมือนเวลาที่เราเหนื่อยมากเกินไป


          เมื่อเพื่อน ๆ เข้าใจปัจจัยที่ทำให้รู้สึกอยากกินขนมแล้ว เพื่อน ๆ ก็จะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อให้ห่างไกลจากการเสพติดของหวาน เลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายให้พอดี แล้วเราก็จะมีร่างกายแข็งแรงใช้ชีวิตยืนยาวไปจนถึงวันที่มนุษยชาติเดินทางไปถึงดาวอังคารได้ (ฮา)


ที่มา: Clevelandclinic.org


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น