วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

นักวิทยาศาสตร์ค้นพบวิธีทำให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง


          มะเร็ง หนึ่งในโรคร้ายที่คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างมากมาย สาเหตุเกิดจากเซลล์เด็กดื้อที่ละเลยหน้าที่ของตัวเองแล้วเอาแต่แบ่งตัวกระจายไปรุกรานเซลล์อื่น ๆ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะรอบ ๆ จนในที่สุดก็นำความตายมาสู่ร่างกายที่มันอาศัยอยู่และตัวมันเอง ถือว่าเป็นโรคที่มีความอันตรายอย่างมาก แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบอีกวิธีที่จะใช้กำจัดเซลล์มะเร็งแล้ว

          ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Tel Aviv University ในอิสราเอลพบว่าสารประกอบในเซลล์มะเร็งสามารถป้องกันไม่ให้โครโมโซมแยกตัวออกและหยุดยั้งการแบ่งเซลล์ได้ โดยใช้วิธีการปรับเปลี่ยนโปรตีนที่มีผลต่อโครงสร้างและเสถียรภาพภายในเนื้อเยื่อ ซึ่งจะยับยั้งการแพร่กระจายและทำให้เซลล์มะเร็งตาย

          กระบวนการที่ค้นพบใหม่นี้สามารถทำให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวเองได้ ซึ่งแตกต่างจากการรักษาโรคมะเร็งในปัจจุบันตรงที่วิธีดังกล่าวจะพุ่งเป้าหมายไปยังเซลล์เจ้าปัญหาโดยตรง ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเซลล์ปกติ และถือเป็นหนึ่งในแนวทางที่กำลังศึกษาค้นคว้าเพื่อใช้ในการรักษาโรคมะเร็งโดยที่สร้างความเสียหายให้กับร่างกายน้อยที่สุด เหมือนกับงานวิจัยเมื่อปีที่แล้ว ที่นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Georgia State University ได้ระบุว่าโปรตีน ProAgio อาจจะกระตุ้นกระบวนการอะพอพโทซิส (Apoptosis กระบวนการที่ร่างกายใช้ในการกำจัดเซลล์เก่า) ในเซลล์มะเร็งได้ และวิจัยก่อนหน้านี้ที่จะเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้เซลล์มะเร็งได้รับน้ำตาลกลูโคส, การปิดกั้นโปรตีน MCL1 ซึ่งทำให้เซลล์มะเร็งสามารถต่อต้านกระบวนการอะพอพโทซิส

          จากการทดสอบกับมะเร็งหลาย ๆ ประเภท (เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งเลือด มะเร็งสมอง เป็นต้น) ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นบวก สามารถหยุดการเจริญเติบโตของมะเร็งเต้านมระยะ 3 ที่ทนต่อการรักษาในหนูได้ ซึ่งทีมนักวิจัยจะศึกษาเพิ่มเติมว่าโปรตีนสามารถต่อสู้กับมะเร็งเต้านมในระยะ 3 และมะเร็งตับอ่อนได้อย่างไร เพื่อนำไปพัฒนายาต้านมะเร็ง

          เห็นข่าวงานวิจัยแบบนี้ก็หวังว่าในอนาคตจะสามารถผลิตยารักษาโรคมะเร็งออกมาได้นะ เอาแบบกินปุบหายปับเลย (ฮา) แต่ว่า...การที่มะเร็งแพร่กระจายไปทั่วร่างกายและเบียดเบียนอวัยวะอื่น ๆ เนี่ย ก็เหมือนกับที่มนุษย์เราขยายพื้นที่อยู่อาศัยออกไปแล้วก็ทำลายสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ไปด้วยเลยนี่เนอะ


ที่มา: Sciencealert.com


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น