วันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2560

[Android] เตรียมความพร้อมก่อนจะพัฒนาโปรแกรมบน Android


          ในการเขียนโปรแกรมบนแอนดรอย์นั้นเราจะเขียนด้วยภาษา Java ซึ่งก่อนที่จะทำการเริ่มต้นพัฒนาโปรแกรม เราก็จำเป็นต้องเตรียมคอมพิวเตอร์ของเราให้พร้อมเสียก่อน โดยบทความนี้จะอธิบายวิธีการติดตั้งซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือ

การติดตั้งชุดพัฒนาโปรแกรมภาษาจาวา


          การติดตั้ง JDK (Java Development Kit) ซึ่งเป็นชุดเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาโปรแกรมด้วยภาษาจาวาจะทำให้คอมพิวเตอร์ของเราสามารถรันคำสั่งที่ถูกเขียนด้วยภาษาจาวาได้ ซึ่งบทความนี้จะเขียนอธิบายวิธีการติดตั้ง JDK รวมไปถึงการตั้งค่า path ให้สามารถนำไปเขียนโปรแกรมภาษา Java ต่อได้ทันที โดยอันดับแรกให้เข้าไปยังเว็บ Oracle.com เพื่อทำการโหลด JDK กันก่อน

ไปยังเมนู Download เล้ยยยย

เลือกเมนู Java for Developers

เลือก Java Platform (JDK)

กดที่ Accept License Agreement แล้วเลือกดาวน์โหลดตัวติดตั้งตามระบบปฏิบัติการของเครื่อง

เซฟไฟล์.....

เมื่อดาวน์โหลดเสร็จแล้ว ดับเบิ้ลคลิกที่ตัวติดตั้งแล้วจะขึ้นหน้าจอแบบนี้ ให้คลิก Next

ถ้าไม่เปลี่ยนตำแหน่งที่ติดตั้งโปรแกรมก็คลิก Next ได้เลย

คลิก Next

คลิก Close เพื่อสิ้นสุดการติดตั้ง
หรือคลิก Next Steps เพื่อเปิดเว็บสำหรับอ่านรายละเอียดของ JDK

          หลังจากทำการติดตั้ง JDK เสร็จเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็ให้ทำการตั้งค่า path ที่อยู่ของ Java เพื่อให้สามารถเรียกใช้งานได้

คลิกขวาที่ My Computer แล้วเลือก Properties

เลือก Advanced system settings

คลิก Environment Variables…

คลิกที่ปุ่ม New… ในส่วนของ System variable

ให้ใส่ค่าดังต่อไปนี้
Variable name: JAVA_HOME
Variable value: ให้ใส่ Path ที่ติดตั้ง JDK
แล้วคลิก OK


Path ที่เราตั้งค่าเมื่อสักครู่ก็จะแสดงขึ้นมา

เลือกที่ Path แล้วคลิก Edit...

จะปรากฏหน้าต่างแบบนี้ขึ้นมา ให้คลิกที่ New

ให้พิมพ์ %JAVA_HOME%\bin จากนั้นก็คลิก OK

คลิก OK

คลิก OK

          เอาล่ะ เท่านี้เครื่องเราก็มีสภาพแวดล้อมพอเหมาะ ไม่ร้อนไม่หนาว พร้อมที่จะเริ่มต้นเขียนโปรแกรมด้วยภาษาจาวากันแล้ว แต่แค่นี้ยังไม่พอ เราต้องติดตั้งเครื่องมือที่จะใช้ในการพัฒนากันอีกด้วย ซึ่งเจ้าเครื่องมือที่ว่านั่นก็คือ Android Studio นั่นเอง

การติดตั้งเครื่องมือสำหรับพัฒนาแอนดรอยด์


          สำหรับเครื่องมือที่เราจะใช้พัฒนาแอนดรอยด์นั้น เราจะใช้ Android Studio เป็นหลัก ซึ่งจากชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับพัฒนาโปรแกรมบนแอนดรอยด์ และนอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเขียนโปรแกรมแล้ว เครื่องมือตัวนี้ยังถูกพัฒนาโดย Google เจ้าของแอนดรอยด์อีก นั่นหมายความว่าตัวเครื่องมือจะมีการอัปเดต แก้ไขจุดบกพร่อง และเพิ่มพีเจอร์ใหม่ ๆ อย่างแน่นอน

          Android Studio จะมัดรวมเอาตัว IDE ที่ใช้ในการเขียนโค้ดและตัว Android SDK ที่ใช้ในการรันแอปพลิเคชันเข้าไว้แล้ว (SDK หรือ Software Development Kit คือเครื่องมือที่เอาไว้ใช้สำหรับพัฒนาแอปพลิเคชันบนแอนดรอยด์) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้การพัฒนาแอปพลิเคชันทำได้ง่ายขึ้น โดยเวอร์ชันที่ผมจะติดตั้งคือเวอร์ชัน 2.3.2 .....เอาล่ะ เข้าเว็บ Developer Android ไปโหลดมาติดตั้งกันเลยดีกว่า

หาปุ่มดาวน์โหลดให้เจอแล้วคลิกเล้ยยยยย

กดยอมรับแล้วคลิกปุ่มโหลดโล้ด


เซฟไฟล์...

เมื่อดาวน์โหลดเสร็จแล้ว ดับเบิ้ลคลิกที่ตัวติดตั้งแล้วจะขึ้นหน้าจอแบบนี้ ให้คลิก Next

เลือกสิ่งที่จะติดตั้ง ในที่นี้ให้เลือกทั้งหมดแล้วคลิก Next

คลิก I Agree

เลือก path ที่จะติดตั้งแล้วคลิก Next

คลิก Next

รอระบบทำการติดตั้ง

เย้! ติดตั้งเสร็จแล้ว คลิก Next

คลิก Finish

ระบบจะแสดงหน้าต่างการตั้งค่าขึ้นมา ให้คลิก Next เพิ่มเริ่มการตั้งค่า

ให้เราเลือกประเภทของการตั้งค่า ถ้าเลือก Standard ก็ง่ายไม่ต้องทำอะไรมาก
แต่ผมขอเลือก Custom ละกัน จากนั้นก็คลิก Next

ให้เราเลือกรูปแบบการแสดงผลของโปรแกรม
ส่วนตัวผมชอบสีดำมากกว่า เพราะงั้นผมเลือก Darcula จากนั้นก็คลิก Next

เลือก Components ที่จะติดตั้งแล้วก็คลิก Next

คลิก Finish

รอระบบตั้งค่าให้เรียบร้อยแล้วคลิก Finish เป็นอันสิ้นสุดการตั้งค่า

          หลังจากที่เราติดตั้ง Android Studio เสร็จเรียบร้อยแล้ว เราก็จำเป็นต้องติดตั้งและอัปเดต Android SDK เพิ่มเติมก่อน โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  • SDK Platforms: SDK และ API ของแอนดรอยด์เวอร์ชันต่าง ๆ ที่ใช้ในการเขียนโค้ดและเรียกใช้คำสั่ง
  • SDK Tools: ส่วนที่ช่วยในการพัฒนาแอปพลิเคชัน
  • SDK Update Sites: เว็บไซต์ที่ใช้สำหรับอัปเดต SDK ต่าง ๆ
ส่วนวิธีติดตั้งและอัปเดต Android SDK ให้ทำตามวิธีดังต่อไปนี้

เปิด Android Studio ขึ้นมาแล้วคลิกที่ Configure มุมล่างขวา

เลือก SDK Manager

ติ๊กเลือก SDK ที่ต้องการติดตั้งหรืออัปเดต จากนั้นคลิก Apply

SDK ที่แนะนำให้ติดตั้งหรืออัปเดต: ใน SDK Platforms ให้เลือกตัวปัจจุบันล่าสุดตัวเดียวก็พอ ส่วน SDK Tools และ SDK Update Sites ให้เลือกทั้งหมด

          เพียงเท่านี้คอมพิวเตอร์ของเราก็พร้อมจะพัฒนาแอปพลิเคชันบนแอนดรอยด์แล้ว ที่เหลือก็แค่ลงมือเขียนโค้ดเท่านั้น บทความนี้คงจะยาวไปสักนิดแล้ว ขอจบลงที่ตรงนี้ก่อนละกัน แล้วพบกันใหม่ในบทความถัดไปนะคร้าบ

ปล. ช่วงนี้มัวแต่เขียนบทความข่าว ไม่ค่อยได้เขียนบทความพัฒนาโปรแกรมเลย (แบบว่ามีข่าวทุกวัน เขียนตามไม่ทัน นี่ก็ดองไว้หลายข่าวอยู่นะ) นาน ๆ ทีก็ขอกลับมาเขียนบทความพัฒนาโปรแกรมบ้างอะไรบ้าง (ฮา)


----- สารบัญ -----


วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การเคลื่อนที่ในโลกเสมือน VR


          ในโลกแห่งความเป็นจริง เราสามารถเดินจากจุด A ไปยังจุด B ได้อย่างง่ายดายโดยไม่มีอาการเมา แต่ในโลกเสมือนอย่าง VR นั้น การเคลื่อนที่ไปอีกจุดหนึ่งให้รู้สึกเป็นธรรมชาติและไม่เกิดอาการเมากลับเป็นเรื่องที่ยากกว่า สังเกตได้จากการเล่นเกม VR ซึ่งคนส่วนมากที่เล่นมักจะเกิดอาการเมา คำถามคือทำยังไงให้เวลาเล่นเกม VR แล้วไม่เกิดอาการเมา การจะตอบคำถามนี้ได้ เราก็ต้องไปทำความรู้จักกับอาการเมาก่อน

          อาการเมา (ไม่ใช่อาการเมาเหล้านะจ๊ะ) คืออาการที่เกิดขึ้นในระหว่างการเคลื่อนที่บนยานพาหนะโดยที่ร่างกายของเราไม่ได้เคลื่อนที่โดยตรง สาเหตุเกิดจากระบบควบคุมการทรงตัวของร่างกายทำงานไม่สอดคล้องกัน โดยระบบการมองเห็นภาพมองเห็นสิ่งรอบตัวเคลื่อนไหวจึงส่งสัญญาณไปบอกสมองว่าร่างกายเคลื่อนไหว แต่ระบบของเหลวในหูชั้นในที่ที่ควบคุมการทรงตัวกลับส่งสัญญาณไปบอกสมองว่าร่างกายกำลังอยู่กับที่ จึงทำให้สมองที่ได้รับสัญญาณเกิดความสับสนเพราะไม่รู้ว่าร่างกายกำลังเคลื่อนที่หรืออยู่กับที่กันแน่ ทำให้เกิดอาการเมานั่นเอง

          เอาล่ะ กลับมาเรื่องเดิม การที่เราจะเล่นเกม VR โดยไม่เกิดอาการเมานั้น ขึ้นอยู่กับการจัดการการเคลื่อนที่ภายในเกมให้มีประสิทธิภาพ ซึ่ง Daydream Labs ร่วมกับทีมพัฒนาของ Google ได้เปิดตัว Daydream Elements ชุดตัวอย่างที่แสดงหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนา VR ให้มีคุณภาพสูง ซึ่งอธิบายหลักการเคลื่อนที่ใน VR โดยไม่ให้ผู้เล่นเกิดอาการเมาไว้ดังนี้

          ความเร็วคงที่: จากสาเหตุของอาการเมาที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าเรามองเห็นภาพที่แสดงว่าเรากำลังเร่งความเร็วพุ่งไปยังข้างหน้า แต่ตัวเรากลับนั่งอยู่เฉย ๆ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสมองเราจะเกิดการสับสนจนทำให้เรารู้สึกเมา วิธีการลดความสับสนนี้ก็คือการใช้ความเร็วคงที่ในระหว่างการเคลื่อนที่


          การจำกัดขอบเขต: แม้ว่าในรายการโทรทัศน์จะมีภาพเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว แต่เราก็ไม่เคยรู้สึกเมา นั่นเป็นเพราะการแสดงผลของโทรทัศน์ใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับขนาดของห้องที่เรามองเห็น ดังนั้นนักพัฒนาเนื้อหา VR สามารถจำกัดขอบเขตการมองด้วยการแสดงภาพแบบอุโมงค์ในขณะที่มีการเคลื่อนที่ โดยการ fade in และ fade out ภาพเพื่อให้ความรู้สึกในการเคลื่อนที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งใน Google Earth VR จะเรียกฟีเจอร์นี้ว่า Comfort Mode


          การเทเลพอร์ต: เป็นเทคนิคการเคลื่อนที่ที่ช่วยให้ผู้ใช้ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เกิดอาการเมา แต่ก็อาจทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสนในขณะที่เคลื่อนที่ว่าเราอยู่ที่ไหนและมาตรงนี้ได้ยังไง ซึ่งเราสามารถลดความสับสนด้วยการ fade สภาพแวดล้อมรอบตัวก่อนและหลังการเทเลพอร์ต เช่นใน Google Street View

          การหมุน: การหมุนภาพอย่างต่อเนื่องและลื่นไหลจะส่งผลให้ผู้ใช้เกิดอาการเมาได้ ดังนั้นเราจึงควรลดความต่อเนื่องของการหมุนโดยการให้หมุนทีละ 10 - 20 องศา จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายตามายิ่งขึ้น

          เทคนิคการเคลื่อนที่ตามที่ได้กล่าวมาเป็นวิธีที่ช่วยไม่ให้ผู้ใช้งาน VR เกิดอาการเมา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสนุกและเพลิดเพลินไปกับการเล่น VR ได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับเพื่อน ๆ ที่เป็นนักพัฒนา VR อย่าลืมเข้าไปศึกษาเทคนิคใน Daydream Elements กันด้วยล่ะ เพราะเราคงไม่อยากเล่น VR กันสักเท่าไหร่ ถ้าเล่นแล้วเกิดอาการเมา (ฮา)


ที่มา: Blog google


สรุป Keynote ของงาน WWDC 2017 (Apple Special Event) ในวันที่ 5 มิถุนายน 2560


          หลังจากงาน Google I/O 2017 ที่จัดตั้งแต่วันที่ 17 - 19 พฤษภาคม 2560 (อ่านสรุปการเปิดตัวในงาน Google I/O 2017) ก็ถึงคราวที่คู่แข่งอย่าง Apple จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์บ้างแล้ว โดยทาง Apple ใช้ชื่องานว่า WWDC 2017 ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5 - 9 มิถุนายน 2560 (ถ้าตามเวลาของบ้านเราก็เริ่มคืนวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมานั่นเอง)

          เริ่มต้นด้วยการที่ CEO ของ Apple คุณ Tim Cook ขึ้นมากล่าวเปิดงานบนเวที ตามด้วยสถิติจำนวนนักฒนาที่พัฒนาแอปพลิเคชันของ Apple ที่มีมากถึง 16 ล้านคน หนึ่งในนั้นคือเด็กอายุสิบปีที่เริ่มเขียนโค้ดตอนอายุหกขวบ (ตอนนั้นตูทำอะไรอยู่ฟ่ะเนี่ย) ซึ่งปัจจุบันเด็กคนนี้มีแอปพลิเคชันอยู่ใน App Store มากถึงห้าแอปพลิเคชันเลย และนักพัฒนาอีกคนที่ถูกกล่าวถึงคือคุณยายวัย 82 ปี ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าอายุไม่เป็นอุปสรรค์ต่อการพัฒนาแอปพลิเคชัน หลังจากฟังคุณ Tim Cook กล่าวเปิดตัวไปแล้ว เราก็มาดูกันว่าในงานนี้มีอะไรใหม่ ๆ มาแสดงบ้าง

tvOS



          Apple ประกาศว่า Apple TV รวมไปถึงแอปพลิเคชัน iOS TV บนอุปกรณ์พกพาจะรองรับ Amazon Prime Video

Apple Watch



          watchOS เดินทางมาถึงรุ่นที่ 4 แล้ว มีการเพิมฟีเจอร์ใหม่ ๆ มากมาย เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงหน้าปัดของตัวนาฬิกาที่เรียกว่า Siri watch face ซึ่งเป็นการรวม Siri เข้าไปเพื่อแสดงข้อมูลตามเวลา, สถานที่, กิจกรรมในปฏิทิน และอื่น ๆ โดยอัตโนมัติ นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มตัวการ์ตูนจาก Toy Story ได้แก่ Woody, Jesse และ Buzz เข้าไปอีกด้วย

          ในส่วนของแอปพลิเคชัน Workout ได้มีการปรับการเคลื่อนไหวของ UI เพิ่มโหมดท้าทายและ การฝึกแบบ HIIT (High-Intensity Interval Training) ที่สำคัญยังสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องออกกำลังกายในฟิตเนสผ่านเทคโนโลยี NFC และแสดงค่าเผาผลาญพลังงานในการออกกำลังกายได้

          watchOS 4 ยังมีการอัปเดตแอปพลิเคชัน Music ซึ่งจะสร้างเพลย์ลิสต์ตามความชอบและประวัติการฟังของผู้ใช้โดยอัตโนมัติ ยิ่งกว่านั้นเพลงจะเล่นเองเมื่อผู้ใช้เริ่มออกกำลังกาย โดย watchOS 4 สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์เปิดให้นักพัฒนานำไปใช้แล้ว แต่รุ่นสำหรับบุคคลทั่วไปจะออกวางจำหน่ายในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้

macOS



          macOS รุ่นใหม่ได้มีการพัฒนาเพิ่มเติมมาจากรุ่น Sierra ในปัจจุบันและเรียก macOS 10.13 ในชื่อใหม่ว่า High Sierra (เล่นแบบนี้เลยเร้อ!) ซึ่งเพิ่มความสามารถให้กับเว็บเบราว์เซอร์ประจำเครื่องอย่าง Safari ให้เป็นเบราว์เซอร์ที่เร็วที่สุด และสามารถการบล็อกการเล่นวิดีโอแบบอัตโนมัติในหน้าเว็บ รวมไปถึงป้องกันการติดตามที่จะบันทึกการท่องเว็บของผู้ใช้งาน


          แอปพลิเคชัน Mail เพิ่มฟีเจอร์ Split View ที่จะช่วยให้เราตอบกลับ mail ได้ง่ายขึ้น ในส่วนของแอปพลิเคชัน Photo ได้มีการแก้ไขแถบด้านข้างซึ่งจะช่วยในการค้นหารูปภาพ ปรับปรุงระบบการจดจำใบหน้า และซิงค์อัลบั้มผ่านอุปกรณ์ต่าง ๆ

          macOS รุ่นนี้จะใช้ Apple File System เป็นระบบจัดการไฟล์พื้นฐานซึ่งจะประกอบไปด้วย ระบบป้องกันความผิดพลาด, การเก็บเอกสารอย่างปลอดภัย, ความเสถียรของระบบ และการเข้ารหัสแบบเฉพาะตัว เป็นต้น ทางด้านวิดีโอได้มีการใช้ตัวเข้ารหัสวิดีโอใหม่ H.265/HVEC เป็นตัวพื้นฐาน ซึ่งจะรองรับวิดีโอที่มีความคมระดับ 4K นอกจากนี้ยังมีการเพิ่ม Metal 2 และ Metal for VR ซึ่งจะปรับปรุงคุณภาพในด้านกราฟิกให้ดียิ่งขึ้น และรองรับการใช้งานเทคโนโลยี VR อีกด้วย
          High Sierra สำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์เปิดให้ใช้งานแล้ว ส่วนเวอร์ชันเบต้าจะเปิดใช้งานในปลายเดือนมิถุนายน และเวอร์ชันสมบูรณ์จะเปิดใช้ในฤดูใบไม้ร่วงนี้ โดย OS นี้จะใช้งานได้กับ Mac ทุกเครื่องที่สามารถใช้งานเวอร์ชัน Sierra ได้

iMac



          iMac รุ่นใหม่นี้จะใช้ Core processors รุ่นที่เจ็ดของ Intel หรือที่เรียกว่า "Kaby Lake" รองรับ RAM ขนาด 32GB (21.5 นิ้ว) หรือ 64GB (27 นิ้ว) มีพอร์ต USB-C สองพอร์ต ใช้ Intel Iris Plus graphics ที่เร็วกว่ารุ่นที่แล้วถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เราสามารถสนุกไปกับเทคโนโลยี VR ได้อย่างไม่กระตุก (สเปกเพิ่มเติมสามารถดูได้ ที่นี่) โดย iMac รุ่นจอ 21.5 นิ้วราคาเริ่มต้น $1,099, รุ่นจอ 21.5 นิ้วแบบ 4K ราคาเริ่มต้น $1,299 และรุ่นจอ 27 นิ้วราคาเริ่มต้น $1,799 ซึ่งทั้งหมดนี้พร้อมวางจำหน่ายแล้ว



MacBook และ MacBook Pro



          MacBook และ MacBook Pro จะใช้ Core processors รุ่นที่เจ็ดของ Intel (Kaby Lake) และ SSD ที่มีความเร็วในการเขียนข้อมูลเพิ่มขึ้น 50 เปอร์เซ็นต์ ราคาเริ่มต้นอยู่ที่ $1,299 และพร้อมวางจำหน่ายแล้ว

iMac Pro



          iMac ที่ทรงประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา มีจอภาพความคมชัดระดับ 5K (จะคมชัดบาดตาไปถึงไหนเนี่ย) โปรเซสเซอร์ซีออน 18 คอร์ (18-core Xeon processor) และกราฟิก AMD Radeon Vega ที่มี VRAM สูงสุด 16GB นอกจากนี้ยังมีหน่วยความจำ ECC ขนาด 128GB และที่เก็บข้อมูล SSD มากถึง 4TB ราคาเริ่มต้นที่ $4,999 (เกือบสองแสนบาท!!!) และจะเริ่มจำหน่ายในเดือนธันวาคม



iOS 11



          OS บนอุปกรณ์ iPhone ซึ่งพัฒนามาถึงเวอร์ชันที่ 11 โดยเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ มากมาย
  • iMessage: มีการปรับปรุงหน้าตาและรองรับการเก็บข้อความไว้ใน iCloud
  • Apple Pay: รองรับการใช้งานในรูปแบบข้อความ ผู้ใช้จะสามารถรับและส่งเงินผ่าน iMessage ได้
  • Siri: เพิ่มเสียงให้มากขึ้น, ปรับปรุงหน้าตาใหม่, แปลภาษาได้ ฉลาดขึ้นสามารถเรียนรู้ความต้องการและนำเสนอข้อมูลให้กับผู้ใช้ได้ดีขึ้น
  • Camera: เปลี่ยนการเข้ารหัสวิดีโอไปใช้ HEVC และรองรับ HDR ทำให้คุณภาพการถ่ายภาพดีขึ้น
  • Control Center: ออกแบบใหม่ให้การปรับแต่งทุกอย่างอยู่ในหน้าเดียวและรองรับ 3D Touch
  • Lock Screen: นำ Lock Screen และ Notification มารวมกัน ลดความยุ่งยากในการใช้งานลง
  • Photo: เพิ่มฟีเจอร์ฟิลเตอร์แต่งรูปใหม่ และสามารถทำ Loop Video ได้
  • Maps: เพิ่มแผนที่ในร่มเช่น ห้างสรรพสินค้าและสนามบิน เป็นต้น และเพิ่มฟีเจอร์แสดงเลนไกด์ในขณะที่ใช้นำทาง
  • CarPlay: ระบบจะเข้าสู่โหมด Do Not Disturb While Driving ในขณะที่ขับรถโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะไม่แสดงการแจ้งเตือน เพื่อป้องกันอุบัติเหตุบนท้องถนน
  • HomeKit: เพิ่มระบบควบคุมลำโพงได้หลายตัว และ AirPlay 2
  • Apple Music: สามารถตั้งค่าเป็นสาธารณะเพื่อเปิดให้คนอื่นเข้ามาดูประวัติการฟังเพลงของเราได้ และเพิ่ม API ให้นักพัฒนาสามารถเชื่อมต่อกับ Apple Music ได้
  • App Store: ออกแบบใหม่ เพิ่มแท็ป (เช่น Today tab, Games tab, Apps tab เป็นต้น) เพื่อช่วยให้ผู้ใช้สามารถค้นหาแอปพลิเคชันได้ง่ายขึ้น
  • Augmented Reality: ARKit ช่วยให้นักพัฒนาสามารถพัฒนาแอปพลิเคชันที่รองรับ AR ได้
นอกจากนี้ยังเพิ่มความสามารถอันหลากหลายให้กับ iPad เช่น เพิ่มฟีเจอร์ของ apps dock ใน iPad, เพิ่มฟีเจอร์ Split View ให้สามารถเปิดหลายแอปพลิเคชันได้พร้อมกัน, รองรับ Drag and drop ในการ copy ข้อมูล (ข้อความ, รูปภาพ) ไปมาระหว่างแอปพลิเคชัน, เพิ่มแอปพลิเคชัน Files ไว้จัดการข้อมูลใน iPad

          iOS 11 (เบต้า 1) สำหรับนักพัฒนาเปิดให้นักพัฒนาโหลดไปใช้งานแล้ว ส่วนรุ่นเบต้าจะปล่อยปลายเดือนนี้ และรุ่นสมบูรณ์แบบจะปล่อยช่วงเดือนกันยายนพร้อมกับเปิดตัว iPhone 8 และ iPhone 7s

iPad Pro



          Apple เปิดตัว iPad Pro รุ่นใหม่มีขนาด 10.5 นิ้ว (ที่จะมาแทนที่ iPad Pro 9.7 นิ้ว) พร้อมกับอุปกรณ์เสริม Smart Keyboard แป้นคีย์บอร์ดที่ช่วยทำให้เราสามารถพิมพ์ข้อความได้ง่ายขึ้น โดย iPad Pro รุ่นใหม่จะใช้เทคโนโลยี True Tone (เทคโนโลยีที่ทำให้หน้าจอสามารถปรับสภาพไปตามแสงในสภาพแวดล้อมของผู้ใช้), รองรับวิดีโอ HDR, มีฟีเจอร์ ProMotion ที่ปรับความถี่การกระพริบเป็น 120Hz ทำให้การเคลื่อนไหวดูลื่นขึ้น


          iPad Pro ใช้ชิพ CPU A10X 6 คอร์ส่งผลให้ความเร็วเพิ่มขึ้น 30% และ GPU 12 คอร์ทำให้ประมวลผลด้านกราฟิกได้เร็วขึ้นถึง 40% กล้องเดียวกับใน iPhone 7 ซึ่งประกอบด้วยกล้องหลัก 12 ล้านพิกเซลและกล้องหน้า 7 ล้านพิกเซล ใช้พอร์ต USB-C ในการชาร์จ มีรุ่นหน่วยความจำ 64GB, 256GB และ 512 GB แต่ iOS ของ iPad Pro รุ่นนี้ยังเป็น iOS 10 อยู่ ซึ่งต้องรออับเดตเป็น iOS 11 เพื่อเพิ่มความสามารถต่าง ๆ ในหัวข้อ iOS 11



HomePod



          Apple เปิดตัว HomePod ลำโพงที่ให้เสียงคุณภาพสูงผสมผสานกับคุณสมบัติของ Siri กลายมาเป็นลำโพงอัจฉริยะขนาด 7 นิ้ว ใช้ชิพ A8 ของ Apple ทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์ส่งผลให้สามารถตรวจจับสภาพแวดล้อมและปรับการสร้างเสียงเพื่อกระจายเสียงไปยังรอบ ๆ ห้อง และด้วยพลังของ Siri ทำให้ลำโพงนี้ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยที่บ้านอีกด้วย โดย HomePod จะมีราคา $349 (ในขณะที่ Amazon Echo มีราคา $180 และ Google Home มีราคา $129) และจะเริ่มขายในเดือนธันวาคม


          ตามความเห็นส่วนตัวคิดว่ายุคสมัยถัดจากนี้ไปน่าจะเป็นยุคสมัยของ AI แล้ว ซึ่งเห็นได้จากการที่ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น AlphaGo ที่สามารถเอาชนะแชมป์โกะโลกได้ หรือการที่เอา AI มาทำงานแทนคน ซึ่งในงาน Google I/O ที่ผ่านมา ทาง Google พูดถึงทิศทางการพัฒนาว่าจะให้ความสำคัญกับ AI แล้วก็ได้จับปัญญาประดิษฐ์มาทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์ของตัวเองหลาย ๆ ตัว ในทางกลับกัน Apple ยังไม่ค่อยพูดถึงเรื่องปัญญาประดิษฐ์สักเท่าไหร่ ซึ่งเราก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่า Apple จะพัฒนา AI ออกมาสู้กับ Google หรือเปล่า .....เพื่อน ๆ สามารถดูวิดีโอการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ภายในงาน WWDC 2017 แบบเต็ม ๆ ได้จากลิงค์ที่มา


ที่มา: Apple Events