วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

นักประสาทวิทยาค้นพบว่าพื้นที่ "Hot Zone" ในสมองมีการทำงานในขณะที่เราฝัน


          เรามีความเชื่อกันว่าการนอนหลับคือการปิดการทำงานของสมองเพื่อพักผ่อน สมองจะไม่ทำอะไรเลยตอนที่เรานอนหลับ แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะสมองไม่ได้มีการทำงานแบบกล้ามเนื้อส่วนอื่น ๆ ที่จำเป็นต้องหยุดพักเมื่อเกิดอาการเมื่อยล้า สมองคนเราทำงานด้วยไฟฟ้าเคมี ซึ่งแม้กระทั่งเวลานอน สมองของเราก็ยังคงทำงานอยู่

          จากงานศึกษาล่าสุด นักประสาทวิทยาเรียกพื้นที่ของสมองส่วนหลังที่มีการทำงานในขณะที่เรากำลังฝันอยู่ว่า "Hot Zone" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความฝันของเราก็เกิดขึ้นนอกระยะ Rapid Eye Movement Sleep (หรือเรียกว่า REM Sleep กินระยะเวลาประมาณ 20 - 25 % ของเวลานอนทั้งหมด ซึ่งเป็นระยะที่มีการทำงานของสมองสูงมาก มีการกรอกลูกตา และเกิดความฝัน) ด้วย แม้ว่าเราจะจำความฝันไม่ได้ก็ตาม

          ในการศึกษาได้มีการทำการทดสอบ 3 ครั้งกับอาสาสมัครทั้งหมด 46 คน ซึ่งจะต้องติดขั้วไฟฟ้า 256 ชิ้นทั่วทั้งหนังศรีษะและบางส่วนของใบหน้าเพื่อวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง โดยอาสาสมัครจะถูกปลุกขึ้นมาตอบคำถามที่นักวิจัยถาม

          ในการทดสอบครั้งแรก อาสาสมัครที่หลับแล้วเกิดความฝันคืออาสาสมัครคนที่สมองในส่วน "Hot Zone" มีการทำงานไม่ว่าจะเป็นการนอนในระยะ Rapid Eye Movement หรือในระยะ Non Rapid Eye Movement (หรือเรียกว่า NREM Sleep เป็นระยะที่ร่างกายจะอยู่ในความเงียบสงบ กล้ามเนื้อคลายตัว การตอบสนองต่อสิ่งเร้าจะค่อย ๆ ลดลงเรื่อย ๆ) ก็ตาม แสดงให้เห็นว่าการจะเกิดความฝันนั้นขึ้นอยู่กับว่าสมองบริเวณ "Hot Zone" นี้มีการใช้งานอยู่หรือไม่ ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับระยะของการนอน

          การทดสอบครั้งที่สอง ให้อาสาสมัครรายงานเนื้อหาในความฝัน โดยเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าสมองแสดงความถี่สูงในสมองบริเวณที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ทำอยู่ในความฝัน เช่น ความฝันที่เกี่ยวข้องกับการพูดก็จะไปกระตุ้นให้สมองบริเวณเวอร์นิเก (Wernicke's area) ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องในการรับรู้ภาษาและความเข้าใจทำงาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความฝันจะใช้งานสมองแบบเดียวกับตอนตื่น ดังนั้นความฝันจึงมีพื้นฐานมาจากประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริงในขณะที่กำลังตื่น

          การทดสอบครั้งที่สามจะทำการทดสอบสลับกัน โดยเป็นการทดสอบให้นักวิจัยทำนายว่าอาสาสมัครฝันหรือไม่ฝันโดยอาศัยผลจากการอ่านเครื่องวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง ผลปรากฎว่านักวิจัยสามารถตอบได้ว่าอาสาสมัครฝันถูกถึง 91% และตอบว่าอาสาสมัครไม่ได้ฝันถูกถึง 81% จากจำนวนครั้งที่ตอบ

          จากการทดสอบทำให้เห็นว่าสมองของเรามีการทำงานอยู่ตลอดเวลาแม้กระทั่งเวลาเรานอน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการนอนจะไม่มีประโยชน์นะ เวลาเรานอน ร่างกายจะนำสารอาหารที่ได้รับมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ เพราะงั้น "ห้ามอดนอน" กันนะจ๊ะ


ที่มา: Wisc.edu


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น