วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

ค้นพบแล้ว! วิธีใหม่ในการสู้กับเชื้อแบคทีเรียดื้อยา

(ภาพจาก Telegraph.co.uk)

          Shu Lam นักศึกษา (สาว) ชาวมาเลย์อายุ 25 ปี (อายุ 25 เองงั้นเรอะ!?) ที่กำลังศึกษาชั้นปรัญญาเอกอยู่ที่ University of Melbourne ประเทศออสเตรเลียค้นพบวิธีต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งวิธีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการศึกษากับหนูทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นหนทางใหม่ในการต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของวงการแพทย์

(ภาพจาก Redorbit.com)

          ก่อนอื่นขอพูดถึงแบคทีเรียก่อน เพื่อน ๆ อาจจะมองว่าแบคทีเรียคือสิ่งสกปรก แต่จริง ๆ แล้วแบคทีเรียมีอยู่ทุกที่แม้แต่ในร่างกายของเรา โดยในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นอยู่ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Microbiota อวัยวะที่ถูกลืม ของคุณหมอผิง) ซึ่งเจ้าแบคทีเรียประจำถิ่นเนี่ยจะสร้างประโยชน์ให้กับร่างกายของเรา แต่ถ้าแบคทีเรียดันหลุดเข้าไปอยู่ในอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายที่ไม่ใช่ถิ่นของตัวเองก็จะเรียกว่า "ติดเชื้อ"

(ภาพจาก Slashfilm.com)

          เวลาเราติดเชื้อ คุณหมอก็จะจ่ายยาปฏิชีวนะให้พร้อมทั้งกำชับให้กินจนยาหมด ซึ่งยาปฏิชีวนะจะทำลายแบคทีเรียในร่างกายของเราโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นแบคทีเรียหลงถิ่นหรือเปล่า และตัวยาก็จะถูกคำนวณมาแล้วว่าควรจะกินเท่าไหร่ถึงจะทำลายแบคทีเรียหลงถิ่นจนหมด แต่ถ้าเรากินยาไม่หมด เจ้าแบคทีเรียหลงถิ่นก็จะมีชีวิตเหลือรอดพร้อมทั้งพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นจนสามารถต่อต้านยาปฏิชีวนะได้หรือที่เรียกกันว่า "เชื้อดื้อยา" กลายเป็นงานเข้าทันที เพราะยาปฏิชีวนะจะไม่สามารถทำอะไรแบคทีเรียหลงถิ่นได้แล้ว .....แต่นี่ยังไม่ถือว่าเลวร้ายที่สุด ถ้าแบคทีเรียที่ดื้อยาเกิดหลุดไปติดต่อคนอื่นแล้วกระจายต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่สามารถกำจัดได้ .....ลองจินตนาการถึงหนังซอมบี้ยึดครองโลกดูสิครับ (ฮา)

          ถึงตรงนี้เพื่อน ๆ คงพอจะเข้าใจคร่าว ๆ เกี่ยวกับแบคทีเรียบ้างแล้ว ทีนี้เรามาดูผลงานของคุณ Shu Lam กันดีกว่า คุณ Shu Lam ได้พัฒนาสารโพลิเมอร์เปปไทด์ชื่อว่า Structurally Nanoengineered Antimicrobial Peptide Polymers (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า SNAPPs) ที่มีรูปร่างคล้ายดาว และสามารถฆ่าแบคทีเรียดื้อยาได้ 6 สายพันธุ์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ เจ้าโพลิเมอร์เปปไทด์นี้จะเข้าไปฉีกผนังเซลล์ของแบคทีเรียที่ดื้อยา ทำให้เชื้อเกิดภาวะเครียดแล้วก็ตายไปเอง แม้ว่าจะทดสอบหลาย ๆ รุ่นแล้วก็ไม่พบว่าแบคทีเรียจะทนทานต่อสารโพลิเมอร์เปปไทด์นี้ได้ นอกจากนี้สาร SNAPPs ยังมีขนาดโมเลกุลใหญ่เกินกว่าที่จะเข้าไปส่งผลกระทบต่อเซลล์ร่างกายอีกด้วย

(ภาพจาก Sciencealert.com)

          สาร SANPPs (จุดสีเขียวในภาพ) ที่กำลังล้อมรอบและฉีกผนังเซลล์ของแบคทีเรีย จากการทดลองได้ผลลัพธ์ดี แม้จะยังเร็วไปหน่อยที่สรุปว่าใช้ได้ผลกับคน แต่งานวิจัยนี้ก็ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Microbiology และถูกยกย่องว่าเป็น Breakthrough (การทลายขีดจำกัด) ที่เปลี่ยนแปลงวงการแพทย์

          ในปัจจุบันไม่ได้มีการพัฒนายาปฏิชีวนะมาหลายปีแล้ว ซึ่งแบคทีเรียที่กลายพันธุ์ทนทานต่อยาปฏิชีวนะได้คร่าชีวิตผู้คนไป 700,000 คนต่อปี และมีการคาดการณ์ว่าผู้เสียชีวิตจะเพิ่มเป็น 10,000,000 คนในปี 2593 (โลกนี้ช่างอยู่ยากนัก) .....แต่เดี๋ยวก่อน ไม่แน่ว่าคุณ Shu Lam อาจจะเป็นผู้กอบกู้โลกอนาคตอันมืดมนนั้นก็ได้


ที่มาSciencealert.com


วันจันทร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2559

[ประชาสัมพันธ์] OWASP Thailand Meeting : A7 Missing Function Level Access Control

          สวัสดีครับ วันนี้ผมมีงานสัมนาดี ๆ มาฝาก "OWASP Thailand Meeting : A7 Missing Function Level Access Control" งานสัมนาสำหรับนักพัฒนาเว็บแอปพลิเคชั่นซึ่งจะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของเว็บ เวลาเพื่อน ๆ สร้างเว็บขึ้นมาแล้วก็คงไม่อยากให้เว็บของตัวเองถูกแฮกใช่ไหมล่ะครับ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องมาทำความรู้จักช่องโหว่รวมไปถึงวิธีการป้องกัน เพื่อไม่ให้เว็บที่เราอุตส่าห์สร้างขึ้นมาอย่างยากลำบากถูกมือดีแฮกข้อมูลไป .....เอาล่ะ! เกริ่นกันมาพอแล้ว เรามาดูรายละเอียดของงานกันดีกว่า

          งานสัมนา "OWASP Thailand Meeting" ภายใต้หัวข้อ "A7 Missing Function Level Access Control" ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ซึ่งจัดโดย OWASP Thailand ในวันพฤหัสบดีที่ 29 กันยายน 2559 เวลา 18:00 - 21:00 น. ณ ชั้นที่ 16 ห้อง 1601 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถนนวิภาวดีรังสิต แผนที่ ที่สำคัญคือ งานสัมนาครั้งนี้ฟรี! ไม่เสียค่าใช้จ่ายครับ (ยกเว้นค่าเดินทาง ฮะฮะ)

Agenda

18.00 – 18.45 น. ลงทะเบียน
18.45 – 19.00 น. กล่าวต้อนรับ โดย OWASP Thailand Chapter Leader
19.00 – 20.00 น. บรรยายช่วงแรก ในหัวข้อ "A7 Missing Function Level Access Control" โดยคุณศรัณญู กู้ธนพัฒน์ CTO จากบริษัท SkillLane
20.00 – 20.10 น. พักการบรรยาย
20.10 – 21.00 น. บรรยายช่วงที่สอง ในหัวข้อ "A7 Missing Function Level Access Control" โดยคุณศรัณญู กู้ธนพัฒน์
21.00 – 21.10 น. กล่าวปิดงาน โดย OWASP Thailand Chapter Leader และถ่ายภาพร่วมกัน


ที่มา:  OWASP Thailand Meeting 9/2016 (Free Event)


วันศุกร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2559

[Mobile App] Google Trips จัดแผนเที่ยวจบได้ใน app เดียว

          เดี๋ยวนี้เวลาจะไปเที่ยวที่ไหนสักที่ อันดับแรกก็ต้องค้นหาข้อมูลสถานที่ที่จะไปก่อน และ website ที่เพื่อน ๆ ทุกคนจะเข้าไปค้นหาข้อมูลเป็น website แรก ๆ ก็คงหนีไม่พ้นอากู๋ Google ไม่ก็ Pantip ซึ่งช่วงหาข้อมูลสถานที่เที่ยวและจัดแผนถือเป็นปัญหาที่สุดของการไปเที่ยว .....แต่ปัญหานั้นก็จะหมดไป ถ้าเพื่อน ๆ มี Google Trips ติดโทรศัพท์ไว้


          Google Trips เป็น app ท่องเที่ยวที่ช่วยให้เพื่อน ๆ สามารถวางแผนเที่ยวได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งทาง Google เพิ่งจะเปิดให้ดาวน์โหลดเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 โดยตัว app จะบันทึกข้อมูลที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น ข้อมูลการจองตั๋วเครื่องบิน ข้อมูลการจองที่พักเป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีข้อมูลรายละเอียดของสถานที่เที่ยวต่าง ๆ แล้วก็มีแผนเที่ยวในแต่ละวันแนะนำให้อีกด้วย เอาเป็นว่าเราไปดูวิดีโอแนะนำเจ้า Google Trips กันก่อนดีกว่า


          ดูวิดีโอแนะนำไปแล้ว เรามาทำความรู้จักความเจ๋งของเจ้า Google Trips กันดีกว่า หลังจากโหลดแล้วกดเข้า app ก็จะแสดงหน้าให้ล็อกอินด้วยบัญชีของ Google เมื่อล็อกอินแล้วตัว app จะเข้าไปทำการดึงข้อมูลจาก Gmail ของเพื่อน ๆ โดยจะดึงรายละเอียดการจองตั๋วเครื่องบินหรือที่พักแล้วสร้างออกมาเป็นทริปโดยอัตโนมัติ

  

          เพื่อน ๆ สามารถดาวน์โหลดข้อมูลของแต่ละทริปมาเก็บไว้ในเครื่องได้ เผื่อกรณีฉุกเฉินไม่มีอินเตอร์เน็ตให้ใช้ และเมื่อกดเลือกทริปแล้วก็จะพบกับเมนูต่าง ๆ มากมาย ดังนี้

 
          Reservations จะแสดงข้อมูลการจองตั๋วเครื่องบินและที่พักของทริปนั้น ๆ จาก Gmail โดยอัตโนมัติ ข้อเสียคือเราไม่สามารถเพิ่มข้อมูลอะไรลงไปเลย แต่ถ้าเพื่อน ๆ คนไหนใช้ Gmail เป็นหลักก็คงจะสบายเพราะข้อมูลการจองของเราจะแสดงอยู่ที่เมนูนี้เองโดยไม่ต้องทำอะไรเลย(ฮา)

 
          Things to do แสดงสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจพร้อมทั้งรายละเอียด เช่น สถานที่ตั้ง เวลาเปิด-ปิดเป็นต้น มีการแยกออกเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ ถ้าอยากไปที่ไหนก็กดดาว favorite เก็บไว้ได้เลย ข้อมูลที่ถูก favorite จะถูกเก็บอยู่ในเมนูถัดไป

          Saved places แสดงสถานที่ที่บันทึกมาจากเมนู Things to do

 
          Day plans แสดงตารางแผนเที่ยวในแต่ละวันที่ทาง Google จัดไว้ให้ ถ้าหากเพื่อน ๆ หมดไอเดียไม่รู้จะไปที่ไหนดีก็สามารถเที่ยวตามแผนที่ถูกจัดไว้แล้วก็ได้

  
          Food & Drink แสดงร้านอาหารที่น่าสนใจพร้อมทั้งรายละเอียด เช่น สถานที่ตั้ง เวลาเปิด-ปิดเป็นต้น แถมยังแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ให้อีกด้วย แน่นอนเลยว่าเรื่องกินคือเรื่องใหญ่ และบางทีเราก็ไม่ได้วางแผนไว้ว่าจะกินอะไรดี เมนูนี้จะช่วยให้เราตัดสินใจหาร้านอาหารอร่อยได้ง่ายขึ้น

          Getting around แสดงวิธีเดินทางเข้าเมืองว่าเราสามารถเดินทางเข้าเมืองด้วยวิธีไหนได้บ้าง และยังแสดงวิธีการเดินทางรูปแบบต่าง ๆ ภายในเมืองอีกด้วย

          Need to know แสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่ควรรู้ เช่น เบอร์โทรฉุกเฉิน สกุลเงิน ค่าภาษี บริการอินเตอร์เน็ต แหล่งช็อปปิ้งเป็นต้น

  
          หรือถ้าเพื่อน ๆ อยากสร้างทริปใหม่ก็ลองพิมพ์สถานที่ปลายทางลงในช่อง "Where do you want to go?" แล้วกด CREATE TRIP ได้เลย ซึ่งจะมีหน้าจอให้พิมพ์ชื่อทริปพร้อมทั้งระบุช่วงเวลาเดินทาง


( ภาพจาก Google Trips )

          เป็นยังไงกันบ้างครับ? app ตัวนี้น่าจะช่วยให้เพื่อน ๆ วางแผนเที่ยวได้ง่ายขึ้นเพราะได้รวบรวมข้อมูลที่จำเป็นเอาไว้อย่างครบถ้วน อีกทั้งยังช่วยแนะนำแผนเที่ยวให้อีกด้วย ถ้ายังไม่พอใจกับแผนเที่ยวที่มีให้อยู่แล้วก็เอาแผนมาดัดแปลงได้ หากเพื่อน ๆ คนไหนกำลังวางแผนจะไปเที่ยวปลายปีก็โหลด app นี้ติดตัวไปลองใช้ดูก็ได้นะครับ



ที่มาGoogle Trips