วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเราหยุดออกกำลังกายไป 2 สัปดาห์


          การกินอาหารที่ดีจะส่งเสริมให้เรามีสุขภาพที่ดี ดั่งเช่นคำกล่าวที่ว่า You are what you eat (เรากินอย่างไร เราก็เป็นอย่างนั้น) แต่ถ้าเราต้องการมีร่างกายที่แข็งแรงก็จำเป็นต้องออกกำลังกาย กลไกการสร้างให้ร่างกายแข็งแรง อันดับแรกเราต้องออกกำลังกายเพื่อทำลายกล้ามเนื้อก่อน พอเรานอนหลับ ร่างกายก็จะนำสารอาหารที่เรากินเข้าไปมาซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ซึ่งร่างกายของเราฉลาด เพราะไม่ใช่แค่ซ่อมแซมให้กลับมาดีเหมือนเดิม แต่ยังเสริมสร้างให้แข็งแรงมากขึ้นกว่าเก่า

          คำถามสำคัญคือเราต้องออกกำลังกายบ่อยแค่ไหนถึงจะทำให้ร่างกายเราแข็งแรง ซึ่งก็โชคร้ายหน่อยที่คำตอบคือตลอดชีวิตครับ เพราะจากงานวิจัยพบว่าเพียงแค่เราหยุดออกกำลังกายไปสองสัปดาห์ ก็ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อและระบบเผาผลาญอาหารซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานและโรคหัวใจ

          ในการศึกษาของมหาวิทยาลัย University of Liverpool ที่เกี่ยวกับผลกระทบของคนที่หยุดออกกำลังกายสองสัปดาห์ นักวิจัยได้คัดเลือกผู้ชายและผู้หญิงจำนวน 28 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ​​ปี และไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ แต่เดินประมาณ 10,000 ก้าวต่อวัน โดยผู้เข้าร่วมมีดัชนีมวลกายเฉลี่ยอยู่ที่ 25 ซึ่งถือเป็นเส้นแบ่งระหว่างคนน้ำหนักปกติกับคนน้ำหนักเกิน

          นักวิจัยได้วัดมวลไขมัน, มวลกล้ามเนื้อ, ความสามารถในการผลิตพลังงานของไมโทคอนเดรีย และสมรรถภาพทางกาย จากนั้นก็ให้ผู้เข้าร่วมสวม Activity Trackers เป็นเวลา 2 สัปดาห์ และให้ลดกิจกรรมประจำวันลงกว่า 80% (หรือประมาณ 1,500 ก้าวต่อวัน) โดยที่ยังให้กินอาหารเหมือนปกติ

          หลังจากผ่านไป 2 สัปดาห์ก็วัดร่างกายผู้ทดสอบอีกครั้งแล้วพบว่าน้ำหนักของผู้ทดสอบเพิ่มขึ้น มวลกล้ามเนื้อลดลง มีไขมันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะบริเวณช่องท้องซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรัง นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงในด้านอื่น ๆ อีกเล็กน้อย เช่น วิ่งได้นานน้อยลง, การตอบสนองของอินซูลินลดลง (ทำให้นำพาน้ำตาลออกจากกระแสเลือดได้น้อยลง), มีไขมันสะสมในตับมากขึ้น และไตรกลีเซอไรด์ (ไขมันในเส้นเลือด) เพิ่มขึ้น

          แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเรายังคงดำเนินกิจกรรมแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้สะสมมากขึ้นและก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวานประเภท 2 ตามมา นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงในร่างกายดังกล่าวเกิดขึ้นในวัยรุ่นที่มีสุขภาพแข็งแรง แล้วถ้าไปเกิดในผู้สูงวัยที่สุขภาพร่างกายไม่แข็งแรงละ..... ผลที่ตามคงไม่ค่อยดีเท่าไหร่

           หลังจากการศึกษา เมื่อผู้เข้าร่วมกลับไปทำกิจกรรมตามปกติหลัง สุขภาพร่างกายของพวกเขาก็กลับสู่ภาวะปกติภายใน 2 สัปดาห์ต่อมา แสดงให้เห็นว่าร่างกายของมนุษย์เรามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราต้องหมั่นออกกำลังกายอยู่เสมอ เพื่อให้ร่างกายซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเพียงหนึ่งเดียวของเรายังคงแข็งแรงต่อไป


ที่มา: Time


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น