วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ยาน Cassini พบพื้นที่ว่างเปล่า (The Big Empty) ระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวน


          หลังจากไม่ได้เขียนบทความไปหลายวันเนื่องจากไม่ค่อยได้นั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ (ไปวิ่งบ้าง ไปลัลลาในวันคล้ายวันเกิดบ้าง) วันนี้ขอกลับมาเขียนบทความอัปเดตสถานะการณ์ของยานแคสซินีสักเล็กน้อย ยานแคสซินีปฏิบัติภารกิจมา 20 ปีซึ่งใกล้จะสิ้นสุดอายุการใช้งานแล้ว ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็เหมือนกับคนทำงานที่ใกล้เกษียณ และก่อนจะหมดหน้าที่แล้วสังเวยตัวเองด้วยการโหม่งดาวเสาร์ ยานแคสซินีก็ต้องปฎิบัติภารกิจทิ้งท้ายให้โลกจดจำ (ฮา) ซึ่งเรียกว่า Grand Finale โดยการโคจรรอบดาวเสาร์ 22 รอบในระยะที่ไม่เคยมียานใดทำได้มาก่อน (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ ยานแคสซินีเข้าสู่ช่วง Grand Finale)

          ในตอนที่ยานแคสซินีลอยผ่านเข้าไปยังวงแหวนชั้นใน นักวิทยาศาสตร์คาดว่าพื้นที่ระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวนอาจจะมีอนุภาคพุ่งเข้ามาปะทะกับตัวยานจนก่อให้เกิดความเสียหาย จึงได้ควบคุมยานแคสซินีให้หมุนจานรับสัญญาณขนาดใหญ่ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4 เมตรมาเป็นโล่ป้องกันบังในทิศทางที่อาจจะมีอนุภาคพุ่งเข้าใส่ แต่ผลกลับไม่เป็นไปตามคาด

          เครื่องมือ RPWS (Radio and Plasma Wave Science) ของยานแคสซินีตรวจพบการพุ่งชนของอนุภาคนับร้อยในหนึ่งวินาทีเมื่อข้ามระนาบวงแหวนของดาวเสาร์ แต่พอเข้าไปโคจรระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวนในวันที่ 26 เมษายน 2560 กลับตรวจพบการพุ่งชนเพียงไม่กี่ครั้ง ซึ่งเครื่องมือ RPWS สามารถแปลงข้อมูลจากการตรวจพบให้ออกมาอยู่ในรูปแบบไฟล์เสียงได้


          ทีม RPWS คาดว่าจะได้ยินเสียงรอยแตกเป็นจำนวนมากเมื่อข้ามวงแหวนเข้าไปภายในช่องว่างระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวน แต่กลับได้ยินเสียงหวีดและเสียงแหลมแทน ทำให้นักวิทยาศาสตร์วงแหวนรู้สึกแปลกใจที่อาณาเขตว่าง ๆ ระหว่างดาวเสาร์กับวงแหวนดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ว่างเปล่า (The Big Empty) ปราศจากฝุ่น ถ้าสภาพแวดล้อมมีฝุ่น ทีมงานจำเป็นต้องใช้เสาอากาศหลักที่เป็นจานรองของยานอวกาศเป็นโล่ในระหว่างการโคจร แต่จากการค้นพบนี้ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการและเวลาที่ใช้ในการสังเกตเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ดีกว่าเดิมได้


ที่มา: Nasa.gov


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น