วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สรุป Keynote ของงาน Google I/O 2017 ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2560


          จบไปแล้วนะครับสำหรับงานวันแรกของ Google I/O 2017 งานประชุมสำหรับนักพัฒนาประจำปีของ Google ที่จัดกัน 3 วันติด ตั้งแต่วันที่ 17 - 19 พฤษภาคม 2560 ขึ้นชื่อว่าเป็นงานที่เหล่านักพัฒนามาประชุมกันแบบนี้ แน่นอนว่าจะต้องเกี่ยวข้องกับการเขียนโปรแกรม โดยภายในงานจะแบ่งเป็นห้อง ๆ ให้นักพัฒนาเข้าร่วมฟังหัวข้อการพัฒนาที่ตนเองสนใจ ซึ่งผมคงจะไม่ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการพัฒนาสักเท่าไหร่ แต่จะสรุป Keynote หรือหัวข้อสำคัญของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ Google นำมาเปิดตัวในงานนี้


          เริ่มต้นด้วยคุณซันดาร์ พิชัย (Sundar Pichai) CEO ของ Google ขึ้นมากล่าวเปิดงาน Google I/O 2017 บนเวที ตามด้วยตัวเลขสถิติผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์ของ Google ซึ่งมีมากกว่า 1 พันล้านคน ผู้คนดูวิดีโอบน Youtube มากกว่า 1 พันล้านชั่วโมงต่อวัน มีการใช้งาน Google Maps ในการนำทางมากกว่า 1 พันล้านกิโลเมตรต่อวัน มีผู้ใช้งาน Google Drive มากกว่า 800 ล้านคนและมีไฟล์ในระบบมากกว่า 3 พันล้านไฟล์ มีผู้ใช้งาน Google Photos มากกว่า 500 ล้านคนและมีการอัพโหลดรูป 1.2 พันล้านรูปต่อวัน ส่วนอุปกรณ์แอนดรอยด์มีการใช้งานมากกว่า 2 พันล้านเครื่อง

          นอกจากนี้คุณพิชัยยังกล่าวว่า Google จะเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญมือถือเป็นอันดับแรกมาให้ความสำคัญด้านปัญญาประดิษฐ์ (Mobile first to AI first) ซึ่งจะมีการรวมปัญญาประดิษฐ์เข้าไปในผลิตภัณฑ์ของ Google เพื่ออำนวยความสะดวกและแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวัน .....เอาล่ะ เรามาดูฟีเจอร์หรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ Google นำมาเปิดตัวกัน

Smart Reply



          เนื่องจากการอ่านอีเมลในขณะที่เรากำลังเดินทางอยู่เป็นเรื่องง่าย แต่ถ้าต้องการตอบอีเมลฉบับนั้นกลับทันทีเลยจะใช้เวลาค่อนข้างมาก ดังนั้น Google จึงจับเอา Machine Learning ไปใส่ใน Gmail ให้ช่วยแนะนำข้อความตอบกลับอย่างรวดเร็วเพื่อประหยัดเวลา โดยเมื่อเลือกข้อความแล้วเราสามารถส่งข้อความได้ทันทีหรือจะแก้ไขข้อความก่อนตอบกลับก็ได้ ซึ่งฟีเจอร์นี้จะเปิดให้ใช้บน Android และ iOS ในภาษาอังกฤษก่อน ภาษาสเปนจะเปิดให้ใช้บริการภายในไม่กี่สัปดาห์ ส่วนภาษาอื่น ๆ จะทยอยตามมาทีหลัง

Google Lens



          ด้วยการผนวกความฉลาดของ Google Assistant ลงไปในกล้องของสมาร์โฟน บังเกิดเป็นกล้องอัจฉริยะที่สามารถวิเคราะห์และแสดงเนื้อหาของสิ่งที่ถูกกล้องเล็งอยู่ได้ เช่น เมื่อเล็งกล้องไปที่ดอกไม้ก็จะแสดงข้อมูลประเภทของดอกไม้ขึ้นมา หรือเมื่อเราเล็งกล้องไปยังร้านอาหารก็จะเห็นรีวิวของร้าน นอกจากนี้หากเราเล็งกล้องไปยังข้อมูลการล็อกอิน Wi-Fi สมาร์ทโฟนก็จะทำการเชื่อมต่อ Wifi ให้เองโดยอัตโนมัติ

          ฟีเจอร์นี้ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถอีกขั้นให้กับกล้องสมาร์ทโฟน จากเดิมที่ Google Translate สามารถแปลข้อความได้เพียงแค่ยกกล้องไปส่องที่ข้อความ แต่เมื่อเพิ่ม Google Assistant ลงไปก็ไม่ใช่แค่ทำให้เราเห็นได้เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำให้เราเข้าใจในสิ่งที่เห็นได้อีกด้วย

Cloud TPUs



          Machine Learning ได้พัฒนาเป็นอย่างมากในช่วงเวลาไม่กี่ปี ซึ่งเครือข่ายประสาทเทียมนี้ได้ช่วยปรับปรุงคุณภาพการแปลภาษาของ Google Translate ช่วยในการจัดอันดับผลการค้นหาของ Google Search และช่วยให้สามารถค้นหารูปภาพที่ต้องการได้ง่ายขึ้นด้วย Google Photos แต่เทคโนโลยีนี้จำเป็นต้องใช้การคำนวณจำนวนมหาศาลเพื่อฝึกแบบจำลองให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ Google จึงได้ออกแบบและสร้าง Tensor Processing Units (TPU) รุ่นที่สองเพื่อรองรับการคำนวณจำนวนมหาศาลนั้น

          TPU รุ่นที่สองนี้มีพลังประมวลผล 180 TFLOPS ซึ่งทาง Google ออกแบบระบบเป็นตู้  ดดยแต่ละตู้จะบรรจุ TPU ไว้ 64 ชุด รวมพลังประมวลผล 11.5 PFLOPS เพื่อช่วยให้ Machine Learning เรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว .....อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ ที่นี่

Google.ai


          โครงการนี้ Google ได้พยายามนำปัญญาประดิษฐ์มาใช้ประโยชน์เพื่อทุกคน แต่การจะสร้าง AI นั้นค่อนข้างยาก Google จึงได้ออกแบบ AI ที่สามารถ "เรียนรู้ที่จะเรียนรู้ได้" และแนวทางนี้เรียกว่า AutoML ซึ่งมีแนวคิดว่า แทนที่จะใช้แรงงานมนุษย์ในการออกแบบโมเดล Machine Learning ใหม่ เปลี่ยนเป็นให้ Machine Learning ที่สร้างขึ้นแล้วทำหน้าที่ออกแบบแทน ซึ่งจะทำให้การสร้าง AI มีความยากน้อยลง

          ด้วยความก้าวหน้าของ AutoML สามารถใช้ในการดูแลสุขภาพ โดยสร้างเครื่องมือในการตรวจหาและศึกษาวิธีการทำงานของโรค เช่น ปรับปรุงวิธีการวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม จัดลำดับดีเอ็นเอซึ่งจะทำให้นักวิจัยสามารถระบุตัวแปรทางพันธุกรรมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หรือแม้แต่ทำนายคุณสมบัติของโมเลกุลใหม่ที่ใช้ในการค้นคว้ายา เป็นต้น

          นอกจากนี้ Google ยังได้นำ AI มาใช้ใน AutoDraw เว็บไซต์ช่วยวาดรูปที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนที่แล้ว (อ่านข่าวการเปิดตัวเว็บไซต์ AutoDraw) และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมายที่จะพูดถึงในหัวข้อถัดไป

Google Assistant



          Google เพิ่มความสามารถ Google Assistant ให้รองรับการสนทนาจากการพิมพ์ ทำให้เราสามารถพิมพ์สั่ง Google Assistant แทนได้ .....อ้าว ปกติก็สั่งการด้วยเสียงได้สะดวกสบายกว่าอยู่แล้วนี่นา จะทำให้พิมพ์สั่งได้ด้วยไปทำไม จริงอยู่ที่ฟังก์ชันนี้อาจจะไม่ล้ำสมัยสักเล็กน้อย แต่ก็เป็นประโยชน์เวลาเราใช้งาน Google Assistant ในที่สาธารณะ เราคงไม่อยากถูกคนอื่นมองเวลาคุยกับสมาร์ทโฟนใช่ม่ะ แถมยังเป็นฟังก์ชันที่ช่วยคนที่ออกสำเนียงภาษาอังกฤษไม่เก่งได้เป็นอย่างดี (ฮา)

          นอกจากนี้ Google ยังปล่อยแอปพลิเคชัน Google Assistant ให้ใช้งานบน iPhone แล้ว พร้อมทั้งเปิดชุดเครื่องมือสำหรับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ของ Google Assistant (Google Assistant SDK) ที่ช่วยให้นักพัฒนาสามารถจับ Google Assistant มาใช้งานร่วมกับผลิตภัณฑ์ของตนเองได้

Google Home



          สิ่งใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาใน Google Home มีหลายอย่าง อันดับแรกก็คือ Google Assistant ซึ่งจะทำให้บ้านของเราฉลาดขึ้นอีกขั้น สามารถให้ข้อมูลได้ด้วยตัวเองโดยที่เราไม่ต้องร้องขอ เช่น ถ้ามีรถติดในเส้นทางที่เรากำลังจะไป Google Home ก็จะแจ้งเตือนให้อัตโนมัติ อันดับถัดไปก็คือความสามารถในการโทรออกหรือ Hands-Free Calling ซึ่งเราสามารถโทรออกไปหาใครก็ได้ (ในสหรัฐฯ) เพียงแค่ใช้เสียงออกคำสั่งกับ Google Home เท่านั้น ที่สำคัญคือฟรี!

          นอกจากนี้ยังมีบริการสตรีมเพลงจากเว็บให้เช่าเพลงเช่น Spotify และจะรองรับการสตรีมเพลงจากเว็บ Soundcloud และ Deezer , การสตรีมจากอุปกรณ์อื่นผ่าน Bluetooth หลังจากการอัปเดตในอนาคต และสิ่งสุดท้ายที่เพิ่มเข้ามาคือความสามารถในการเลือกอุปกรณ์แสดงผล ปกติ Google Home ไม่มีหน้าจอสำหรับแสดงผลอยู่แล้ว เวลาที่ผู้ใช้งานสั่งค้นหาเส้นทาง Google Home ก็จะส่งแผนที่เส้นทางไปแสดงผลในสมาร์ทโฟน

Google Photos



          Google Photos เองก็ไม่รอด ถูกจับเจ้า Google Assistant เข้าไปใช้งานด้วย เพิ่มฟีเจอร์ในการแชร์ขึ้นมาอีก 3 ฟีเจอร์ ฟีเจอร์แรกก็คือ Suggested Sharing ซึ่งจะใช้ Machine Learning ค้นหาใบหน้าในรูปจากนั้นก็จะเตือนให้เราแชร์รูปถ่ายกับคนที่ปรากฏอยู่ในรูปด้วย เช่น เมื่อเราถ่ายรูปกับแฟน Google Photos ก็จะแจ้งเตือนขึ้นมาให้เราแชร์รูปถ่ายให้แฟนเราด้วย


          ฟีเจอร์ที่สองคือ Shared libraries ที่จะช่วยให้เราสามารถตั้งค่าสมาร์ทโฟนเพื่อ Sync ภาพถ่ายไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ ได้ เช่น เราสามารถตั้งค่าสมาร์ทโฟนของเราให้ Sync ภาพถ่ายคู่กับแฟนไปยังสมาร์ทโฟนของแฟนได้โดยอัตโนมัติ เมื่อเราถ่ายรูปคู่ด้วยสมาร์ทโฟนของเรา รูปก็จะปรากฏในสมาร์ทโฟนของแฟนให้ทันที


          ฟีเจอร์ที่สามคือ Photo Books ที่จะใช้ Machine Learning ช่วยในการเลือกภาพต่าง ๆ มารวมเป็นอัลบั้มที่เราสามารถพิมพ์ออกมาเป็นหนังสืออัลบั้มภาพมีให้เลือกทั้งปกอ่อนและปกแข็ง ราคาเริ่มต้นที่ $9.99 หรือประมาณ 350 บาท และก็แน่นอนว่าตอนนี้ฟีเจอร์ดั่งกล่าวเปิดให้ใช้ในสหรัฐอเมริกาแล้ว ส่วนประเทศไทยไม่รู้จะได้ใช้ฟีเจอร์นี้เมื่อไหร่


          ในอนาคต ด้วยพลังแห่ง Machine Learning จะทำให้ Google Photos สามารถลบสิ่งไม่พึงประสงค์ในรูปออกไปได้โดยอัตโนมัติ

YouTube



          YouTube จะรองรับวิดีโอแบบ 360 องศาในแอปพลิเคชันบนสมาร์ททีวี ซึ่งสามารถใช้รีโมทในการควบคุมการหมุนวิดีโอ 360 องศาบนหน้าจอได้ และยังมีฟีเจอร์ใหม่ที่เรียกว่า Super Chat ซึ่งจะทำให้เราสามารถจ่ายเงินในขณะดูสตรีมสดบน YouTube ได้เลย โดยข้อความที่จ่ายเงินจะถูกเน้นให้โดดเด่นขึ้น ทำให้ผู้สตรีมสามารถเห็นข้อความดังกล่าวได้ง่าย ฟีเจอร์นี้ยังเป็นการสร้างรายให้กับผู้สตรีมอีกด้วย

Android


 

          ปัจจุบันนี้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ถูกบรรจุเข้าไปอยู่ในอุปกรณ์ต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์ โทรทัศน์ รถยนต์ นาฬิกา โน้ตบุ๊ก ฯลฯ โดยระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เวอร์ชันล่าสุดที่เพิ่งเปิดตัวในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาก็คือ Android O ถึงแม้จะยังไม่ใช่ตัวเต็ม แต่ก็มีฟีเจอร์ที่น่าสนใจมากมาย (ข่าวการเปิดตัว Android O)


          เริ่มกันที่ฟีเจอร์ Picture-in-Picture ในโหมดนี้เราจะสามารถย่อขนาดวิดีโอ (รวมไปถึงวิดีโอคอล) ลงไปไว้ที่มุมของหน้าจอ ทำให้เราใช้งานแอปพลิเคชันอื่นได้ในขณะที่กำลังเล่นวิดีโออยู่


          ฟีเจอร์ Notification Dots จะเป็นการแสดงจุดแจ้งเตือนบนไอคอนแอปพลิเคชัน ซึ่งจะบ่งบอกให้เรารู้ว่าแอปพลิเคชันไหนมีการแจ้งเตือนอะไรใหม่ ๆ บ้าง โดยเมือเราแตะค้างบนไอคอนแอปพลิเคชันที่มีจุดแจ้งเตือน เราก็จะเห็น

          ฟีเจอร์ Autofill with Google จะช่วยในการเติมข้อมูลให้อัตโนมัติ โดยเป็นข้อมูลที่ Sync มาจาก Google Chrome ซึ่งใครที่ใช้ Google Chrome ในการท่องเว็บอยู่แล้วจะรู้ถึงความสะดวกสบายของฟีเจอร์นี้เลย


          ฟีเจอร์ Smart Text Selection ที่ช่วยให้การเลือกคำทำได้ง่ายขึ้น โดย Machine Learning จะเรียนรู้คำและทำให้เราสามารถเลือกประโยคยาว ๆ ได้ตามความเหมาะสม เช่น เลือกข้อความที่อยู่ในการคลิกเพียงแค่ครั้งเดียว เป็นต้น นอกจากนี้ระบบยังฉลาดพอที่จะรู้ว่าข้อความที่เราเลือกอยู่เป็นอะไร ถ้าเป็นที่อยู่ก็จะมีตัวเลือกให้เปิดในแผนที่ หรือถ้าเป็นเบอร์โทรศัพท์ก็จะมีตัวเลือกให้โทรออก


          นอกจากจะเพิ่มลูกเล่นใหม่ให้เราสามารถใช้งานได้สะดวกมากขึ้นแล้ว ยังมีการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้งานของ Android O ให้ดียิ่งขึ้น เช่น ความปลอดภัย อายุของแบตเตอรี่ เป็นต้น โดย Google เรียกการปรับปรุงในด้านประสิทธิภาพนี้ว่า Vitals นอกจากนี้เพื่อเป็นการเฝ้าระวังแอปพลิเคชันน่าสงสัย ทาง Google ยังได้สแกนแอปพลิเคชันที่ติดตั้งในเครื่องมากถึง 5 หมื่นล้านแอปพลิเคชันต่อวัน

          เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบให้ดียิ่งขึ้น Google เปิดตัว Google Play Protect ซึ่งเป็นตัวตรวจหาไวรัสที่จะคอยสแกนแอปพลิเคชันเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีโค้ดที่น่าสงสัยหรือมีอันตราย นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงระบบปฏิบัติการให้สามารถเปิดเครื่องและแอปพลิเคชันได้เร็วขึ้นถึง 2 เท่า และเพิ่มประสิทธิภาพให้แอปพลิเคชันที่ทำงานอยู่เบื้องหลังใช้ทรัพยากรและกินแบตเตอรี่น้อยลง

          ในด้านการพัฒนา Google ได้เพิ่มฟีเจอร์ให้ Play Console Dashboards เพื่อที่จะวิเคราะห์แอปพลิเคชันของนักพัฒนาว่าใช้ทรัพยากรหรือกินแบตเตอรี่มากเกินไปหรือเปล่า ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ แล้วยังมีส่วนเสริมของ Android Studio ที่ช่วยแสดงประสิทธิภาพของแอปพลิเคชันที่กำลังพัฒนา ว่าใช้หน่วยความจำเท่าไหร่ กินแบตเตอรี่มากแค่ไหน และสิ่งใหม่สุดท้ายที่เพิ่มเติมเข้ามาในด้านการพัฒนานั่นก็คือการประกาศรองรับภาษา Kotlin เป็นภาษาที่สองสำหรับการเขียนโปรแกรมนั่นเอง

Android Go


          Google เปิดตัวโครงการใหม่ที่เรียกว่า Android Go ซึ่งเป็นการปรับแอนดรอยด์ให้เหมาะสมกับอุปกรณ์สเปคต่ำที่มีแรมน้อยกว่า 1 GB ไม่ว่าจะเป็นลดการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตด้วยโหมดประหยัดดาต้าของ Google Chrome ซึ่งสามารถลดการใช้ดาต้าได้ 750 TB ต่อวัน ปรับปรุงบางแอปพลิเคชันให้กินทรัพยากรน้อยลง (ซึ่งนั่นหมายถึงคุณภาพของแอปพลิเคชันนั้นจะลดลงด้วย) รองรับหลายภาษา เพื่อทำให้สมาร์ทโฟนที่ใช้งาน Android Go มีราคาถูกจนทุกคนสามารถซื้อมาใช้งานได้

VR และ AR





          Google เปิดตัว Daydream เมื่อปีที่แล้วเพื่อนำเสนอประสบการณ์เสมือนจริงที่มีคุณภาพสูงเข้าสู่สมาร์ทโฟน ซึ่งในงานครั้งนี้ Google ประกาศเพิ่มชุดหูฟัง Daydream VR แบบสแตนด์อโลน ซึ่งสามารถทำงานได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้สมาร์ทโฟนหรือเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งตอนนี้ Google กำลังทำงานร่วมกับ HTC Vive และ Lenovo เพื่อสร้างและเปิดตัวชุดหูฟังใหม่ในปลายปีนี้ โดยตัวแว่นใหม่จะมีเซ็นเซอร์จับความเคลื่อนไหวได้อย่างละเอียดที่เรียกว่า WorldSense เพิ่มเข้ามา


          ในส่วนของ AR มีการเปิดตัว Visual Positioning Service (VPS) ที่ช่วยจับตำแหน่งภายในอาคารได้อย่างแม่นยำจากการจับภาพและลักษณะพื้นที่รอบ ๆ นอกจากนี้ Google ยังรวมเทคโนโลยี AR เข้าไปใน Google Expeditions (โครงการที่ใช้แว่น VR พาเด็ก ๆ ไปสำรวจและเรียนในสถานที่แปลกใหม่) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้

Google for Jobs


          Google for Jobs คือผลิตภัณฑ์ของ Google ที่จะช่วยค้นหางาน ตั้งแต่งานขายปลีกจนถึงตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งจะใช้ Machine Learning ในการกรองตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับผู้ใช้ รวมไปถึงความสะดวกในการเดินทาง สามารถค้นหาได้ทันทีในช่องค้นหาของ Google โดย Google for Jobs จะเปิดตัวในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้าและจะให้บริการในสหรัฐอเมริกาเป็นที่แรกก่อน และจะทยอยให้บริการในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก


          ในปีนี้ Google ให้ความสำคัญกับ AI และได้นำ AI มาทำงานร่วมกับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดฟีเจอร์ใหม่ ๆ มากมาย ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน แต่นี่เป็นเพียงแค่ Keynote เท่านั้น ซึ่งผมจะทยอยนำเทคโนโลยีที่ Google พูดถึงในงาน Google I/O วันอื่น ๆ มาเขียนให้เพื่อน ๆ ได้อ่านกัน แต่บทความอาจจะมาช้านิดนึงนะ แหะ ๆ


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น