วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การผันแปรทางพันธุกรรมของเซลล์เม็ดเลือดแดงช่วยลดความเสี่ยงของโรคมาลาเรีย


          นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการผันแปรทางพันธุกรรม (Gene Variant) ของเซลล์เม็ดเลือดแดงสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมาลาเรียได้มากถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าร่างกายของเรามีการวิวัฒนาการเพื่อต่อสู้กับโรคร้ายแรงที่อยู่คู่กับเรามาเป็นพัน ๆ ปี

          โรคมาลาเรียเกิดจากเชื้อปรสิตโปรโตซัว (สัตว์เซลล์เดียว) ในสกุลพลาสโมเดียม (Plasmodium) ที่แพร่กระจายผ่านยุง ซึ่งโปรโตซัวในสกุลพลาสโมเดียมมีมากกว่า 100 ชนิด แต่เจ้าตัวที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรียมีอยู่ 5 ชนิดเท่านั้น และพลาสโมเดียมฟัลซิพารัม (Plasmodium Falciparum) ก็เป็นชนิดที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรียที่มีอาการรุนแรงที่สุด โดยปรสิตจะเข้าสู่เซลล์เม็ดเลือดแดงผ่านยีนส์ GYPA และ GYPB ที่อยู่บนผิวของเม็ดเลือดแดง เพื่อสืบพันธุ์และทำลายเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้มีไข้สูง เหงื่อออก หนาว ปวดเมื่อยหรือถึงแก่ความตาย

          จาก ข้อมูลที่บันทึกโดย World Health Organization (WHO) พบว่า ในปี 2558 ทั่วโลกมีผู้ป่วยเป็นโรคมาลาเรียมากถึง 212 ล้านคน และกว่า 429,000 คนของผู้ป่วยเสียชีวิต โดยส่วนมากของผู้ที่เสียชีวิต (ประมาณ 303,000 คน) คือเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่ยังมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงพอ

          นักวิจัยได้ศึกษาข้อมูลทางพันธุกรรมมากกว่า 12,000 คน และพบว่าคนที่มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดเรียงยีนส์ Glycophorin (GYP) บนโครโมโซมที่สี่ (หรือที่เรียกว่า DUP4) จะมีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อมาลาเรียซึ่งช่วยลดความเสี่ยงที่จะติดโรคประมาณ 40 เปอร์เซ็นต์

          แม้จะยังไม่แน่ชัดว่าการผันแปรทางพันธุกรรมนี้ส่งผลให้ปรสิตเข้าไปในเซลล์เม็ดเลือดแดงยากขึ้นได้อย่างไร แต่งานวิจัยนี้ก็จะเป็นแนวทางในการศึกษาถึงวิธีที่ปรสิตเข้าไปภายในเซลล์เม็ดเลือดแดงต่อไปในอนาคต

          มนุษย์เราอยู่ร่วมกับโรคมาลาเรียมาเป็นเวลานาน จึงไม่น่าแปลกใจที่เซลล์ของเราจะหาหนทางวิวัฒนาการตัวเองเพื่อป้องกันการจู่โจมจากโรคมาลาเรีย ซึ่งทางฝั่งโรคมาลาเรียเองก็คงจะหาวิธีใหม่ ๆ ที่จะเจาะการป้องกันของร่างกายเรา แต่อย่างไรก็ตามในสงครามครั้งนี้มนุษย์เราก็ดูจะได้เปรียบมากกว่า เนื่องจากเรารู้จักกางมุ้งหรือจุดยากันยุงเพื่อป้องกันไม่ให้โดนยุงกัด เพียงเท่านี้ปรสิตน้อยก็จะไม่สามารถเข้าสู่ร่างกายเราผ่านทางยุงได้แล้ว .....เอวังด้วยประการฉะนี้ เย้!


ที่มา: Sciencealert


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น