วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การเคลื่อนที่ในโลกเสมือน VR


          ในโลกแห่งความเป็นจริง เราสามารถเดินจากจุด A ไปยังจุด B ได้อย่างง่ายดายโดยไม่มีอาการเมา แต่ในโลกเสมือนอย่าง VR นั้น การเคลื่อนที่ไปอีกจุดหนึ่งให้รู้สึกเป็นธรรมชาติและไม่เกิดอาการเมากลับเป็นเรื่องที่ยากกว่า สังเกตได้จากการเล่นเกม VR ซึ่งคนส่วนมากที่เล่นมักจะเกิดอาการเมา คำถามคือทำยังไงให้เวลาเล่นเกม VR แล้วไม่เกิดอาการเมา การจะตอบคำถามนี้ได้ เราก็ต้องไปทำความรู้จักกับอาการเมาก่อน

          อาการเมา (ไม่ใช่อาการเมาเหล้านะจ๊ะ) คืออาการที่เกิดขึ้นในระหว่างการเคลื่อนที่บนยานพาหนะโดยที่ร่างกายของเราไม่ได้เคลื่อนที่โดยตรง สาเหตุเกิดจากระบบควบคุมการทรงตัวของร่างกายทำงานไม่สอดคล้องกัน โดยระบบการมองเห็นภาพมองเห็นสิ่งรอบตัวเคลื่อนไหวจึงส่งสัญญาณไปบอกสมองว่าร่างกายเคลื่อนไหว แต่ระบบของเหลวในหูชั้นในที่ที่ควบคุมการทรงตัวกลับส่งสัญญาณไปบอกสมองว่าร่างกายกำลังอยู่กับที่ จึงทำให้สมองที่ได้รับสัญญาณเกิดความสับสนเพราะไม่รู้ว่าร่างกายกำลังเคลื่อนที่หรืออยู่กับที่กันแน่ ทำให้เกิดอาการเมานั่นเอง

          เอาล่ะ กลับมาเรื่องเดิม การที่เราจะเล่นเกม VR โดยไม่เกิดอาการเมานั้น ขึ้นอยู่กับการจัดการการเคลื่อนที่ภายในเกมให้มีประสิทธิภาพ ซึ่ง Daydream Labs ร่วมกับทีมพัฒนาของ Google ได้เปิดตัว Daydream Elements ชุดตัวอย่างที่แสดงหลักการและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการพัฒนา VR ให้มีคุณภาพสูง ซึ่งอธิบายหลักการเคลื่อนที่ใน VR โดยไม่ให้ผู้เล่นเกิดอาการเมาไว้ดังนี้

          ความเร็วคงที่: จากสาเหตุของอาการเมาที่อธิบายไว้ก่อนหน้านี้ ถ้าเรามองเห็นภาพที่แสดงว่าเรากำลังเร่งความเร็วพุ่งไปยังข้างหน้า แต่ตัวเรากลับนั่งอยู่เฉย ๆ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสมองเราจะเกิดการสับสนจนทำให้เรารู้สึกเมา วิธีการลดความสับสนนี้ก็คือการใช้ความเร็วคงที่ในระหว่างการเคลื่อนที่


          การจำกัดขอบเขต: แม้ว่าในรายการโทรทัศน์จะมีภาพเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว แต่เราก็ไม่เคยรู้สึกเมา นั่นเป็นเพราะการแสดงผลของโทรทัศน์ใช้พื้นที่เพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับขนาดของห้องที่เรามองเห็น ดังนั้นนักพัฒนาเนื้อหา VR สามารถจำกัดขอบเขตการมองด้วยการแสดงภาพแบบอุโมงค์ในขณะที่มีการเคลื่อนที่ โดยการ fade in และ fade out ภาพเพื่อให้ความรู้สึกในการเคลื่อนที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งใน Google Earth VR จะเรียกฟีเจอร์นี้ว่า Comfort Mode


          การเทเลพอร์ต: เป็นเทคนิคการเคลื่อนที่ที่ช่วยให้ผู้ใช้ไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วโดยไม่เกิดอาการเมา แต่ก็อาจทำให้ผู้ใช้เกิดความสับสนในขณะที่เคลื่อนที่ว่าเราอยู่ที่ไหนและมาตรงนี้ได้ยังไง ซึ่งเราสามารถลดความสับสนด้วยการ fade สภาพแวดล้อมรอบตัวก่อนและหลังการเทเลพอร์ต เช่นใน Google Street View

          การหมุน: การหมุนภาพอย่างต่อเนื่องและลื่นไหลจะส่งผลให้ผู้ใช้เกิดอาการเมาได้ ดังนั้นเราจึงควรลดความต่อเนื่องของการหมุนโดยการให้หมุนทีละ 10 - 20 องศา จะทำให้ผู้ใช้รู้สึกสบายตามายิ่งขึ้น

          เทคนิคการเคลื่อนที่ตามที่ได้กล่าวมาเป็นวิธีที่ช่วยไม่ให้ผู้ใช้งาน VR เกิดอาการเมา ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานสนุกและเพลิดเพลินไปกับการเล่น VR ได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับเพื่อน ๆ ที่เป็นนักพัฒนา VR อย่าลืมเข้าไปศึกษาเทคนิคใน Daydream Elements กันด้วยล่ะ เพราะเราคงไม่อยากเล่น VR กันสักเท่าไหร่ ถ้าเล่นแล้วเกิดอาการเมา (ฮา)


ที่มา: Blog google


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น