วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560

นักวิทยาศาสตร์สร้างโฮโลแกรมที่บางที่สุดในโลก


          ดูเหมือนว่าความฝันที่เราจะได้ใช้งานโฮโลแกรมอย่างในภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ชื่อดังเรื่องต่าง ๆ ใกล้จะเป็นจริงแล้ว เมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้พัฒนาโฮโลแกรมที่บางที่สุดในโลก ซึ่งบางกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 1,000 เท่า

          โฮโลแกรมเป็นภาพสามมิติที่สร้างขึ้นโดยการปฏิสัมพันธ์ของแสงเลเซอร์จากแหล่งกำเนิดแสง และมีความลึกมากกว่าภาพที่เกิดขึ้นจากเลนส์ โดยแสงจะต้องถูกจัดการให้สามารถสร้างภาพลวงตาของวัตถุสามมิติออกมาได้ ซึ่งจนถึงปัจจุบันนี้วัสดุที่ใช้ในการทำโฮโลแกรมก็มีความหนาพอ ๆ กับความยาวคลื่นของแสงที่ต้องจัดการ

          "โฮโลแกรมแบบเก่าที่สร้างด้วยคอมพิวเตอร์มีขนาดใหญ่เกินไปสำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ แต่โฮโลแกรมบางเฉียบของเราสามารถแก้ไขปัญหาในด้านขนาดได้" คุณ Min Gu หัวหน้าทีมวิจัยจากสถาบัน Royal Melbourne Institute of Technology (RMIT) ในออสเตรเลียกล่าว

          เพื่อลดขนาดของโฮโลแกรมให้บางลง คุณ Gu และทีมจึงได้ใช้แผ่นฟิล์มบาง ๆ ของฉนวนโทโพโลจิคอล (Topological Insulator) ที่เรียกว่า Antimony Telluride (Sb2Te3) ในการสร้างโฮโลแกรมที่มีขนาด 25 นาโนเมตร ซึ่งเจ้าฉนวนโทโพโลจิคอลเป็นวัสดุควอนตัมที่มีคุณสมบัติพิเศษ นั่นคือมีดัชนีการหักเหของแสงต่ำที่พื้นผิว แต่ตรงกลางกลับมีดัชนีการหักเหของแสงสูง

          แผ่นฟิล์ม Antimony Telluride จะถูกยิงด้วยแสงเลเซอร์แบบเดียวกับที่ใช้ตอนเขียนข้อมูลลงแผ่นซีดี ซึ้งพื้นผิวที่หักเหแสงได้มากจะทำให้แสงกระเด็นไปรอบ ๆ ภายใน โดยแสงที่สะท้อนอยู่ภายในหลาย ๆ ครั้งจะทำให้เกิดเป็นภาพโฮโลแกรมสามมิติ และขั้นตอนต่อไปของงานวิจัยชิ้นนี้ก็คือการพัฒนาฟิล์มบางอย่างแข็งที่จะนำไปวางลงบนหน้าจอ LCD เพื่อแสดงภาพสามมิติ ซึ่งจำเป็นต้องลดขนาดพิกเซลลงไปอย่างน้อยอีกสิบเท่า


          เทคโนโลยีนาโนโฮโลแกรมนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้ระบบเลเซอร์แบบเดียวกับการเขียนข้อมูลลงแผ่นซีดีซึ่งรวดเร็วและไม่ซับซ้อน จึงเหมาะสมกับการนำไปใช้งานและง่ายต่อการผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ด้วยขนาดที่บางกว่าเส้นผมก็จะทำให้ผู้ผลิตสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใส่ไว้ในสมาร์ทโฟนได้ ไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นสมาร์ทโฟนแสดงผลเป็นภาพโฮโลแกรมในเร็ว ๆ นี้ก็เป็นได้


ที่มา: Sciencealert


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น