วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

[PHP] ตอนที่ 1: ทำความรู้จักกับ PHP


          ปัจจุบันนี้อินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราอย่างมาก ซึ่งเว็บไซต์ก็เป็นช่องทางยอดนิยมที่ใช้ในการสื่อสารข้อมูล นอกจากจะใช้แสดงข้อมูลข่าวสารแล้ว ยังสามารถใช้เป็นร้านค้าออนไลน์อย่าง lnwshop หรือไม่ก็ใช้เชื่อมโยงกับเพื่อน ๆ เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) อย่าง Facebook แต่เพื่อน ๆ เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่าเว็บไซต์เหล่านั้นมีวิธีสร้างหรือมีหลักการทำงานอย่างไร .....ถ้าเพื่อน ๆ สงสัย งั้นเรามาทำความเข้าใจการทำงานของเว็บไซต์อย่างคร่าว ๆ กันเถอะ


          เวลาเพื่อน ๆ เข้าเว็บไซต์ด้วยเว็บบราวเซอร์ (เช่น Internet explorer, Firefox, Chromeเป็นต้น) ก็จะทำการส่ง Request ไปที่ Server (รายละเอียดเพิ่มเติม) จากนั้น Server ก็จะทำการส่งไฟล์ HTML (รายละเอียดเพิ่มเติม) กลับมา และเว็บบราวเซอร์ก็จะแสดงผลออกมา นี่เป็นหลักการทำงานคร่าว ๆ ของเว็บ แต่หลักการแค่นี้ทำได้แค่เว็บไซต์แบบ Static ธรรมดา ๆ ที่เอาไว้แสดงข้อมูลเฉย ๆ เท่านั้น ไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานได้ ดังนั้นจึงต้องมีการเพิ่มสคริปต์ PHP (รายละเอียดเพิ่มเติม) เข้ามาเพื่อช่วยให้เว็บไซต์มีลูกเล่นมากขึ้น


          หลังจากเพิ่มสคริปต์ PHP ลงไปแล้ว Server จะทำการประมวลผลก่อนจะสร้างไฟล์ HTML ส่งกลับไปให้ผู้ใช้ ทีนี้เว็บไซต์ของเราก็สามารถทำปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานได้แล้ว .....นอกจากภาษา PHP แล้วก็ยังมีภาษาอื่นอีกที่ใช้สำหรับเพิ่มสีสันให้กับเว็บไซต์ แต่ภาษา PHP มีรูปแบบไม่ซับซ้อน สามารถศึกษาได้ง่าย แล้วก็ยังฟรีอีกด้วย

          เป็นยังไงบ้างครับ ตอนนี้เพื่อน ๆ ก็พอจะเข้าใจการทำงานของเว็บไซต์แล้ว เริ่มสนใจที่จะลองสร้างเว็บไซต์กันแล้วหรือยังเอ่ย บล็อกหน้าเราจะมาเตรียมเครื่องให้พร้อมก่อนจะเขียน PHP กันครับ



---------- รายละเอียดเพิ่มเติม ----------

          Server: เครื่องคอมพิวเตอร์สเปคสูงที่เปิดทำงานตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีพัก เพื่อรอให้ผู้ใช้งานเข้ามาเรียกใช้หน้าเว็บ .....เปิดตลอดเวลาแบบนี้น่าสงสารเนอะ
          HTML: ย่อมาจาก Hypertext Markup Language หมายถึงข้อความที่เชื่อมต่อกันผ่านลิงค์ เช่นถ้าเราคลิ๊กข้อความ Google หน้าจอก็จะเปลี่ยนเป็นเว็บ Google นั่นเป็นเพราะข้อความนั้นเชื่อมต่อไปยังเว็บไซต์ Google นั่นเอง
          PHP: เป็นภาษาสำหรับเขียนโปรแกรมบนเว็บไซต์ โดยนามสกุลไฟล์จะเป็น .php ซึ่งสามารถนำไปเปิดดูหรือแก้ไขไฟล์ได้ด้วย Text Editor ซึ่ง PHP จะทำงานบนฝั่ง Server ใช้สำหรับคำนวณค่า ประมวล จัดเก็บลงฐานข้อมูล ก่อนจะส่งผลลัพธ์กลับไปให้ผู้เรียกใช้งานในรูปไฟลฺ HTML ซึ่งเราสามารถเขียน PHP ร่วมกับ HTML เพื่อช่วยเพิ่มสีสันให้เว็บไซต์ได้อีกด้วย


----- สารบัญ -----



Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น