วันพฤหัสบดีที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559

หนทางใหม่!? นักวิจัยใช้แบคทีเรียต่อสู้กับแบคทีเรียดื้อยา


          สืบเนื่องจากบทความก่อนหน้านี้ที่มีการค้นพบ วิธีใหม่ในการสู้กับเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ของนักศึกษาสาวชาวมาเลย์โดยการใช้สารโพลิเมอร์เปปไทด์ในการกำจัดตัวเชื้อแบคทีเรียดื้อยา (เพื่อน ๆ ก็น่าจะเข้าใจความหน้ากลัวของแบคทีเรียดื้อยาบ้างแล้ว) บัดนี้ นักวิจัยได้มีการค้นพบอีกวิธีหนึ่งที่อาจเป็นหนทางสู่ชัยชนะในสงครามการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับแบคทีเรียดื้อยา โดยใช้หลักการหนามยอกเอาหนามบ่งนั่นก็คือการใช้แบคทีเรียต่อสู้กับแบคทีเรีย ซึ่งเจ้าแบคทีเรียที่นักวิจัยนำมาใช้คือแบคทีเรีย Bdellovibrio ที่เป็นแบคทีเรียประเภทกินแบคทีเรียชนิดอื่นเป็นอาหารนั่นเอง

          ทีมนักวิจัยจาก Imperial College London และ University of Nottingham ได้ทดลองนำแบคทีเรีย Bdellovibrio มาผสมเข้ากับแบคทีเรีย Shigella สายพันธุ์ดื้อยาที่เป็นสาเหตุของโรคอาหารเป็นพิษ (เจ้าแบคทีเรีย Shigella เนี่ยเป็นตัวการที่ทำให้ผู้คน 160 ล้านคนป่วยและมากกว่า 1 ล้านคนต้องตายในแต่ละปี แถมยังไม่มีวัคซีนป้องกันการติดเชื้ออีกด้วย) ซึ่งผลจากการทดลองพบว่าแบคทีเรีย Shigella สายพันธุ์ดื้อยาลดลงเป็นจำนวนมาก และเมื่อนำไปทดลองในตัวอ่อนของปลาม้าลายโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มนึงฉีดแบคทีเรีย Shigella แล้วฉีดแบคทีเรีย Bdellovibrio ตามไปอีกเล็กน้อย ส่วนอีกกลุ่มฉีดเฉพาะแบคทีเรีย Shigella พบว่ากลุ่มที่ได้รับแบคทีเรีย Bdellovibrio มีอัตราการรอดชีวิตกว่า 60% ในขณะที่อีกกลุ่มรอดชีวิตแค่ 25% และนักวิจัยไม่พบผลข้างเคียงจากการทดลองในตัวอ่อน

          แบคทีเรีย Bdellovibrio จะเคลื่อนตัวเข้าไปอาศัยอยู่ภายในแบคทีเรียชนิดอื่นก่อนจะเริ่มกัดกินแล้วก็เจริญเติบโตทำลายแบคทีเรียเจ้าของร่างออกมา (เหมือนเอเลี่ยนเลยเนอะ ฮา) แล้วยังกระตุ้นการทำงานของเม็ดเลือดขาวก่อนจะถูกกำจัดออกไปโดยระบบภูมิคุ้นกันของร่างกาย ทำให้อัตราการรอดชีวิตของตัวอ่อนปลาม้าลายเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ในการศึกษาพบว่าเจ้าแบคทีเรียชนิดนี้ยังสามารถพบได้ภายในลำไส้ของคนที่มีสุขภาพดีอีกด้วย

          ถึงการทดลองในปลาม้าลายจะประสบผลสำเร็จ แต่ก็ใช่ว่าจะได้ผลแบบเดียวกันในมนุษย์ แม้จำเป็นต้องรองานวิจัยในอนาคตที่สามารถยืนยันว่าได้ผลแบบเดียวกันในมนุษย์ก่อน แต่ผลการทดลองครั้งนี้ก็ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการต่อสู้กับวิกฤตเชื้อดื้อยา ส่วนบทสรุปสุดท้ายจะเป็นยังไงก็ต้องรอติดตามต่อในอนาคต


ที่มา: Sciencealert.com
ภาพจาก: Gizmodo.com.au


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น