การหายใจคือกระบวนการนำอากาศเข้าหรือออกจากปอดเพื่อแลกเปลี่ยนแก๊สให้เม็ดเลือดแดงนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกายและนำคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นผลจากการเผาผลาญพลังงานออกจากร่างกาย แต่นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนแก๊สแล้ว การหายใจยังเชื่อมโยงไปถึงพฤติกรรมและการทำงานของสมองอีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ของ Northwestern ทำการบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของผู้ป่วยโรคลมชักที่มีกำหนดการผ่าตัดสมอง และได้ค้นพบว่ากิจกรรมภายในสมองแปรผันตามการหายใจ ซึ่งกิจกรรมเกิดขึ้นในพื้นที่สมองส่วนของที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความทรงจำ และกลิ่น โดยจากการศึกษาพบว่ามนุษย์สามารถระบุใบหน้าที่แสดงความกลัวได้รวดเร็วขึ้น และยังมีแนวโน้มว่าจะจำสิ่งของได้ดีขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวเกิดขึ้นในขณะที่กำลังหายใจเข้าด้วยจมูกเท่านั้น
Christina Zelano ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาที่ Northwestern University Feinberg School of Medicine กล่าวว่า "ส่วนหนึ่งของการค้นพบที่สำคัญในการศึกษาครั้งนี้คือความแตกต่างอย่างมากของการทำงานในสมองส่วนของ Amygdala และ Hippocampus เมื่อเปรียบเทียบระหว่างการหายใจเข้ากับการหายใจออก โดยการหายใจเข้าจะกระตุ้นเซลล์ประสาทในสมองส่วนการรับรู้กลิ่น, Amygdala และ Hippocampus ทั่วทั้งระบบ Limbic"
Amygdala ทำหน้าที่ 2 ส่วน คือ จัดเก็บความทรงจำที่ประกอบด้วยความรู้สึก และ ประมวลผลอารมณ์ในด้านลบ (โดยเฉพาะอารมณ์กลัว) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ให้ผู้เข้าร่วมทดสอบดูภาพใบหน้าซึ่งจะมีทั้งใบหน้าแสดงความแปลกใจและใบหน้าแสดงความกลัวภายในห้องแล็ปที่มีการบันทึกการหายใจของผู้ทดสอบ จากนั้นให้ผู้เข้าทดสอบตัดสินใจอย่างรวดเร็วว่าใบหน้าที่เห็นเป็นใบหน้าแบบไหน เมื่อใบหน้าปรากฏขึ้นมาในขณะที่ผู้ทดสอบกำลังหายใจเข้า ผู้ทดสอบสามารถจำแนกใบหน้าแสดงความกลัวได้อย่างรวดเร็วกว่าตอนที่กำลังหายใจออก แต่กลับไม่เป็นเช่นนั้นกับใบหน้าแสดงความแปลกใจ และผลเหล่านี้ไม่เกิดขึ้นในขณะที่พวกเขาหายใจด้วยปาก
Hippocampus ทำหน้าที่เกี่ยวกับระบบความทรงจำ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาโดยให้ผู้เข้าทดสอบจำภาพจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ และค้นพบว่าพวกเขาสามารถนึกถึงภาพวัตถุได้ดีขึ้นในขณะที่กำลังหายใจเข้า
ผลการวิจัยบ่งบอกว่าการหายใจอย่างรวดเร็วอาจเพิ่มข้อได้เปรียบในขณะที่มนุษย์เราตกอยู่ในสถานะการณ์อันตราย นี่อาจจะเป็นเหตุผลที่ตอบคำถามว่าทำไมเวลาเรากลัวแล้วเราถึงหายใจเร็วขึ้น ดังนั้นการหายใจจึงไม่ใช่เป็นแค่การแลกเปลี่ยนแก๊สภายในร่างกายอย่างเดียวเท่านั้น แต่การหายใจยังสร้างสัญญาณไฟฟ้าในสมองของมนุษย์ที่ช่วยเพิ่มการตัดสินทางอารมณ์และการเรียกความทรงจำให้ย้อนกลับคืนมาอีกด้วย
ที่มา: Neurosciencenews.com
0 comments:
แสดงความคิดเห็น