วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561

Google ประกาศเปิดตัว Android รุ่นที่ 9 (Android Pie)! มีฟีเจอร์ใหม่อะไรบ้าง มาดูกัน


          หลังจากที่ Android รุ่นใหม่ล่าสุด (รุ่น 9) ที่มีตัวอักษรขึ้นต้นด้วยตัว P อยู่ในสถานะ Beta มานาน ล่าสุดในวันอังคาร 7 สิงหาคม 2561 ทาง Google ก็ได้ประกาศชื่อเต็มของรุ่นนี้ออกมาซะที โดยชื่อของรุ่นที่ 9 นี้ก็คือ Android Pie และที่ยิ่งไปกว่านั้น Google ยังปล่อยอัปเดตให้กับเหล่าโทรศัพท์ Pixel รุ่นต่าง ๆ อีกด้วย (เครื่องของผมก็ได้รับอัปเดตแล้ว ดีใจ เย่!)

ฟีเจอร์ใหม่ใน Android Pie


          Android Pie มาพร้อมกับปัญญาประดิษฐ์ที่จะช่วยให้โทรศัพท์มือถือของเราฉลาดมากขึ้น ง่ายยิ่งขึ้น และทำงานได้เหมาะกับเราราวกับเป็นกิ่งทองใบหยก (ว่าไปนั่น) โดยเจ้าปัญญาประดิษฐ์ที่เพิ่มเข้ามาจะเรียนรู้การใช้งานโทรศัพท์ของเรา คาดเดาการทำงานและช่วยนำเสนอ action ที่ตรงตามที่เราต้องการ ตัวอย่างจากประสบการณ์ตรงของผม มีแอปพลิเคชันนึงมักจะแจ้งเตือนอยู่บ่อย ๆ ซึ่งพอผมอ่านข้อความแจ้งเตือนแล้วก็มักจะปัดข้อความทิ้งออกจากการแจ้งเตือนอยู่เสมอ ๆ พอผมปัดทิ้งหลาย ๆ ครั้งโดยไม่ได้ตอบโต้อะไรกับข้อความแจ้งเตือนนั้น เจ้าโทรศัพท์แสนฉลาดก็ถามขึ้นมาว่า "จะให้บล็อกการแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันนี้หรือไม่" เลย แหมมมมม แสนรู้จัง

          นอกจากนี้ปัญญาประดิษฐ์ยังช่วยจัดลำดับความสำคัญในการใช้แบตเตอรี่ของแต่ละแอปพลิเคชันอีกด้วย แอปพลิเคชันที่เราไม่ค่อยได้ใช้งานก็จะถูกกำจัดการใช้งานแบตเตอรี่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้โทรศัพท์ของเราสามารถใช้งานได้ยาวนานขึ้น

Adaptive Battery


          ตามที่บอกไว้ข้างบนว่า Android Pie มาพร้อมปัญญาประดิษฐ์ซึ่งจะเรียนรู้การใช้งานโทรศัพท์ของเรา จัดลำดับความสำคัญในการใช้แบตเตอรี่ของแต่ละแอปพลิเคชันโดยดูจากความถี่ในการใช้งาน ถ้าแอปพลิเคชันไหนไม่มีการใช้งานมานาน ก็จะถูกจำกัดการใช้งานแบตเตอรี่ ซึ่งจะมีการแบ่งแอปพลิเคชันออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่
  • Active: แอปพลิเคชันที่ผู้ใช้กำลังใช้งานอยู่ ระบบจะไม่จำกัดการใช้พลังงานแบตเตอรี่
  • Working set: แอปพลิเคชันที่ถูกเรียกใช้งานบ่อย ๆ แต่ยังไม่ได้ใช้งานอยู่ เช่น แอปพลิเคชันจำพวกโซเชียลมีเดีย ระบบจะจำกัดการใช้พลังงานเล็กน้อย สามารถใช้พลังงานได้เพียงพอต่อความต้องการในการทำงานและการแจ้งเตือน
  • Frequent: แอปพลิเคชันที่มีการใช้งานเป็นประจำ แต่ไม่จำเป็นต้องใช้งานทุกวัน เช่น แอปพลิเคชันออกกำลังกาย ระบบจะจำกัดการใช้พลังงานมากขึ้น ความสามารถในการทำงานและการแจ้งเตือนลดลง
  • Rare: แอปพลิเคชันที่ไม่ได้มีการใช้งานบ่อย เช่น แอปพลิเคชันจองโรงแรม ระบบจะจำกัดการใช้พลังงานอย่างเข้มงวด และยังจำกัดความสามารถในการเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตอีกด้วย
  • Never: แอปพลิเคชันที่ถูกติดตั้งแต่ไม่ได้ถูกเรียกใช้งานเลย ระบบจะจำกัดการใช้พลังงานอย่างเต็มที่

Adaptive Brightness

          นอกจากใช้ปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้การใช้งานของเราเพื่อไปจำกัดการใช้งานพลังงานของแต่ละแอปพลิเคชันแล้ว ปัญญาประดิษฐ์ยังช่วยในการจัดการความสว่างของหน้าจอโทรศัพท์ให้กับเราโดยอัตโนมัติอีกด้วย

Slices


          ฟีเจอร์นี้จะแสดงผลเนื้อหาบางส่วนหรือชุดคำสั่งจากแอปพลิเคชันในหน้าค้นหาของ Google Search หรือจาก Google Assistant ทำเราให้สามารถเรียกคำสั่งได้ทันทีโดยไม่ต้องเปิดแอปพลิเคชัน

App Actions


          ฟีเจอร์ที่ช่วยแนะนำแอปพลิเคชันที่เราน่าจะเรียกใช้งานจากสภาพแวดล้อมต่างๆ เช่น เมื่อผู้ใช้เสียบหูฟัง ระบบก็จะช่วยแนะนำแอปพลิเคชันเพลงขึ้นมา

Text Classifier and Smart Linkify


          Text Classifier จะจำแนกข้อความว่าเป็นข้อความประเภทไหน เช่น เวลา หรือไฟล์ทบิน จากนั้น Smart Linkify ก็จะช่วยแนะนำแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับประเภทของข้อความนั้น ๆ

New system navigation


          เปลี่ยนแปลงระบบควบคุมจากเดิมที่แถบข้างล่างจะมีอยู่สามปุ่ม เปลี่ยนเป็นสองปุ่มคือปุ่ม Home กับปุ่ม Back เพื่อให้การค้นหาและสลับไปมาระหว่างแอปพลิเคชันง่ายขึ้น โดยการสไลด์ปุ่ม Home ขึ้นมา ระบบจะแสดงแอปพลิเคชันที่ใช้งานล่าสุด จากนั้นก็ปัดไปทางซ้ายหรือขวาเพื่อเลื่อนไปยังแอปพลิเคชันที่ต้องการ และแตะที่หนึ่งเพื่อเรียกแอปพลิเคชันนั้นขึ้นมา

Display cutout


          รองรับหน้าจอแหว่งที่พวกเราชาวไทยเรียกกันว่า "ติ่ง" ทำให้สามารถแสดงผลได้เต็มหน้าจอ

Notifications and smart reply

 

          ฟีเจอร์นี้ช่วยเพิ่มความสามารถให้การแจ้งเตือนมีประโยชน์มากขึ้น โดยแสดงบทสนทนาจากแอปพลิเคชันแชท ซึ่งเราสามารถแนบรูปภาพหรือสติกเกอร์ในการตอบกลับได้ นอกจากนี้ยังมีการแนะนำคำตอบกลับให้อีกด้วย

Text Magnifier


          ฟีเจอร์ที่ช่วยขยายข้อความที่ถูกเลือกให้ใหญ่ขึ้น ช่วยให้เรามองเห็นข้อความเวลาที่เราวางนิ้วค้างบนหน้าจอเพื่อเลือกข้อความ

Biometric prompt


          ระบบนี้จะใช้ข้อมูลทางชีวภาพ เช่น ลายนิ้วมือ หรือดวงตา ในการยืนยันตัวตน จากเดิมที่แต่ละแอปพลิเคชันต้องพัฒนาระบบสแกนนิ้วมือเพื่อยืนยันตัวตนขึ้นมาเอง ก็เปลี่ยนมาใช้การยืนยันตัวตนจากระบบนี้แทน โดยการเรียก BiometricPrompt API แทน

Protected Confirmation

          ฟีเจอร์นี้จะแสดง prompt ขึ้นมาขออนุญาตผู้ใช้เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าผู้ใช้ต้องการทำรายการที่ละเอียดอ่อน เช่น การชำระเงิน หรือไม่

Multi-camera API and other camera updates

          รองรับการทำงานของกล้องหลายตัว สามารถเปิดสตรีมจากกล้องสองตัวหรือมากกว่าพร้อมกันได้ นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงกล้อง ลดความล่าช้าในระหว่างการจับภาพ ป้องกันภาพสั่นไหว และเอฟเฟ็กต์พิเศษ

Wi-Fi RTT for indoor positioning


           รองรับการระบุตำแหน่งภายในอาคารได้แม่นยำขึ้นในระยะ 1 - 2 เมตร โดยใช้ Wi-Fi Round-Trip-Time (RTT) หรือการคำนวนระยะการรับส่งข้อมูลจาก Wi-Fi Access Point ในอาคาร โดยไม่จำเป็นต้องเชื่อมต่อกับ Wi-Fi Access Point

Open Mobile API for NFC payments and secure transactions

          เพิ่ม GlobalPlatform Open Mobile API ซึ่งจะเปิดให้เข้าถึงระบบความปลอดภัยและการชำระเงินด้วย Smart Card

Digital Wellbeing


          ชุดฟีเจอร์นี้จะช่วยให้เราลดการใช้งานโทรศัพท์ลง เพื่อให้เราหันไปคุยกับคนข้าง ๆ มากยิ่งขึ้น (ว่าไปนั่น) โดยชุดฟีเจอร์นี้ประกอบไปด้วย

  • Dashboard: เป็นรายงานสรุประยะเวลาในการใช้โทรศัพท์ของเรา ว่าเราใช้แอปพลิเคชันไหนนานเท่าไหร่บ้าง
  • App Timer: สามารถกำหนดเวลาในการใช้งานของแต่ละแอปพลิเคชันได้
  • Do Not Disturb: ปิดการแจ้งเตือนทั้งหมด ไม่ให้แสดงขึ้นมาเตือนบนหน้าจอ
  • Wind Down: โหมดก่อนนอน ซึ่งจะปรับสีของหน้าจอให้ลดลงเป็นสีขาวดำ และปิดการแจ้งเตือนทั้งหมด
          แต่ชุดฟีเจอร์นี้ยังอยู่ในช่วงทดสอบ ถ้าเพื่อน ๆ อยากทดสอบสามารถไปลงชื่อขอใช้งานได้ ที่นี่ แต่มีข้อแม้ว่าอุปกรณ์ของเพื่อน ๆ จะต้องใช้งาน Android Pie เมื่อลงทะเบียนเรียบร้อยแล้วจะมี email ส่งมาให้กดตกลง หลังจากนั้น Digital Wellbeing ก็จะไปปรากฏบนอุปกรณ์ของเพื่อน ๆ

          สำหรับฟีเจอร์ของ Android Pie ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ถ้าสนใจ เพื่อน ๆ สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและฟีเจอร์ที่เหลือได้ที่ Android Developers Blog , Android Pie


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น