วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

[PHP] ตอนที่ 3: เริ่มเขียน PHP กันเล้ย!


          หลังจากเตรียมเครื่องของเพื่อน ๆ ให้พร้อมใน บทความสอน PHP ตอนที่ 2 เรียบร้อยแล้ว เรามาเริ่มเขียน PHP กันเลยดีกว่า

PHP & HTML


          PHP เป็น script ที่ทำงานบนฝั่ง Server แล้วแสดงผลออกมาอยู่ในรูปแบบของเอกสาร HTML ดังนั้นจึงสามารถเขียนแทรกอยู่คำสั่ง HTML ได้ แต่ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ จะเขียน script PHP แทรกลงไปในคำสั่ง HTML ได้เลยนะ จำเป็นต้องเขียนอยู่ภายใน tag ดังต่อไปนี้

  1. <? ..... ?> หรือ <?php ..... ?>
  2. <% ..... %> หรือ <%= ..... %>
  3. <script language="php"> ..... </script>
          ใน PHP เวอร์ชั่น 7 ขึ้นไปได้มีการนำ tag <%, <%= และ <script language="php"> ออก จึงเหลือให้ใช้งานแค่ tag เดียว คือ tag <?php ..... ?> (สามารถเขียนย่อ ๆ ได้เป็น <? ..... ?> แต่ Web Server บางตัวจะไม่อนุญาตให้เขียนแบบนี้ ดังนั้นก็เขียนแบบเต็ม ๆ ไปเถอะเนอะ) โดยเพื่อน ๆ สามารถเช็คเวอร์ชั่นของ PHP และค่าต่าง ๆ ของ Web Server ได้จากคำสั่ง

<?php

phpinfo();

?>

          ในส่วนของการแสดงผลข้อมูลให้ออกมาอยู่ในรูปแบบเอกสาร HTML สามารถทำได้โดยการใช้คำสั่ง echo ตามด้วยข้อความที่อยู่ใน single quote (') หรือ double quote (") และทุกคำสั่งของ PHP จะต้องปิดท้ายคำสั่งด้วย semicolon (;) เสมอ เช่น

<?php

echo "Hello World, PHP.";

?>

          จากตัวอย่างข้างต้นเป็นการใช้ PHP แสดงผลออกมาตรง ๆ ซึ่งในการแสดงผลเราสามารถนำ tag PHP ไปแทรกอยู่ระหว่าง tag HTML ได้เลย

<html>
<head>
<title>My Webpage</title>
</head>
<body>
<h1>Hello, <?php echo "This is my first page."; ?></h1>
</body>
</html>

          หรือจะเขียน PHP ให้แสดง tag HTML ออกมาก็ได้

<php

echo "<html>";
echo "<head>";
echo "<title>My Webpage</title>";
echo "</head>";
echo "<body>";
echo "<h1>Hello, This is my first page.</h1>";
echo "</body>";
echo "</html>";

?>

Comment ใน PHP


          Comment คือส่วนของข้อความที่ PHP จะไม่ทำการประมวลผล .....สิ่งหนึ่งที่จำเป็นในการเขียนโค้ดนั่นก็คือการเขียน Comment กำกับเข้าไปด้วย ยิ่งเพื่อน ๆ เขียนเว็บให้มีการทำงานที่หลากหลายมากขึ้นเท่าไร จำนวนโค้ดก็จะยิ่งเยอะ ถ้าไม่มีการเขียน Comment อธิบายโค้ดเอาไว้ เวลาเพื่อน ๆ ต้องการกลับมาแก้ไขก็ต้องมานั่งไล่โค้ดทีละบรรทัด นอกจากนี้ยังเป็นการทำสัญลักษณ์เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการค้นหาหรือแก้ไข ดังนั้นการเขียน Comment เอาไว้ก็จะช่วยลดเวลาในการไล่โค้ด รูปแบบการเขียน Comment ใน PHP มี 2 รูปแบบ ได้แก่
  1. // ใช้สำหรับ Comment 1 บรรทัด
  2. /* ..... */ ใช้สำหรับ Comment หลายบรรทัด

<?php

echo "Hello World, PHP.";
echo "<br />";      // tag HTML สำหรับขึ้นบรรทัดใหม่
// echo "ในส่วนนี้จะไม่แสดงผลออกทางหน้าจอ";

/*
Comment หลายบรรทัด
echo "สวัสดีชาวโลก";
*/

?>

          เมื่อเว็บเกิด Error จนไม่สามารถแสดงข้อมูลได้ เพื่อน ๆ สามารถใส่เครื่องหมาย Comment หน้าคำสั่งที่น่าจะเกิด Error แทนการลบคำสั่งนั้นทิ้งไปก็ได้ .....ในส่วนของบทความนี้ขอจบลงเพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่ในบทความถัดไป


----- สารบัญ -----


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น