วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2563

เคล็ด (ไม่) ลับการเตรียมตัวก่อนขึ้นไปเป็น Speaker บนเวที


        สวัสดีจ้าาาาา กลับมาพบกันอีกครั้งหลังจากที่หายไปปีกว่า ๆ ที่ไม่ได้อัพเดตบล็อกเลย คิดถึงเพื่อน ๆ ทุกคนจัง ช่วงนี้ผมเองก็พยายามจะหาเวลากลับมาเขียนบล็อกต่อแต่ก็โดนทั้งงาน ทั้งซีรี่ย์เกาหลีเรื่อง Start-up เข้ามารบกวนจนไม่ได้เริ่มเขียนซะที (ฮา) พูดถึงซีรี่ย์ Start-up ก็รู้สึกว่าบทละครทำออกมาดี มีการพูดถึง Start-up แม้ว่าในตอนท้าย ๆ จะเน้นเรื่องของความรักซะมากกว่า แต่ก็ถือว่าเปิดเผยวงการ Start-up ให้คนธรรมดาอย่างเรา ๆ เข้าใจได้ง่าย

        เอ๊ะ! ออกนอกเรื่องซะไกล กลับมากันก่อนดีกว่า วันนี้ตั้งใจจะเขียนบล็อกถ่ายทอดประสบการณ์การขึ้นไปเป็น Speaker บนเวทีในโรงหนัง ถึงจะได้พูดไม่นาน แต่ก็เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมตัว หรือสร้างแรงบันดาลใจให้เพื่อน ๆ อยากขึ้นไปพูดบนเวทีบ้าง เพราะงั้นผมอาจจะไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับงานที่ผมไปพูดสักเท่าไหร่ แต่จะพูดถึงประสบการณ์การเตรียมตัวของผมเป็นหลัก

        เริ่มจากงานที่ไปพูดก่อนเนอะ ชื่องาน Coraline Big Data x Data Science Summit 2020 เป็นงานแรกงานเดียวที่พูดถึง Real Cases ความสำเร็จของโครงการ Big Data ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย จัดขึ้นที่เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน โรงภาพยนตร์ 13 ในวันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน 2563 เวลา 13.00 - 17.00 น. 

        ภายในงานจะมีการพูดถึง ecosystem ในการทำโครงการ Big Data, ตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้อง แล้วก็ยกตัวอย่าง Real Cases ที่ประสบความสำเร็จในการทำโครงการ Big Data โดยดร. อสมา กุลวานิชไชยนันท์ CEO และ Co-Founder บริษัท Coraline ส่วนผมได้รับโอกาสให้ไปพูดแนะนำเกี่ยวกับตำแหน่งหน้าที่ของ Full Stacker Developer และ QA Engineer

เคล็ด (ไม่) ลับการเตรียมตัวก่อนขึ้นไปพูดบนเวที

        ใคร ๆ ก็มักจะพูดว่า Developer เป็นพวกพูดไม่รู้เรื่อง ซึ่งก็ไม่ผิด และผมเองก็เป็นหนึ่งในพวกพูดไม่รู้เรื่องเหมือนกัน ตอนที่จะออกไปพูดหน้าชั้น หรือการนำเสนองาน ผมก็มักจะตื่นเต้น ภายในหัวก็จะโล่งคิดอะไรไม่ออก พอต้องออกไปพูดบนเวทีที่มีคนฟังเยอะมากขนาดนี้ ในใจก็คิดเลยว่า "แค่พูดนำเสนอยังตื่นเต้นเลย นี่ต้องออกไปพูดบนเวทีอีก จะรอดม๊ายแต่เมื่อได้รับโอกาสมาแล้วก็ต้องลองกันสักตั้งล่ะเนอะ

        การพูดครั้งนี้ใช้เวลาเตรียมตัวซ้อมพูดประมาณ 2-3 วัน เริ่มจากกำหนดเนื้อหาที่จะพูดก่อน ลองเขียนสคริปต์ขึ้นมา จากนั้นก็ลองซ้อมพูดดู ตอนแรกก็จะติด ๆ ขัด ๆ เพราะจำเนื้อหาที่จะพูดไม่ได้ แต่พอซ้อมซ้ำไปซ้ำมาก็เริ่มคล่องปาก ในการพูดแต่ละครั้งบทพูดก็ไม่ซ้ำกันเลย

        พอใกล้ถึงวันงาน ความตื่นเต้นก็เริ่มก่อตัว แต่จากที่ซ้อมมาแล้วก็ทำให้มั่นใจว่าจะพูดได้มากขึ้น พอมีเวลาว่างก็พยายามซ้อมไปเรื่อย ๆ ซ้อมในเวลางานก็มี จนงานการแทบไม่ได้ทำ (จุ๊ ๆ อย่าไปบอกใครนะว่าผมโดดงาน ฮะฮะ) ตอนอาบน้ำก็ซ้อมแบบไม่ออกเสียงทำให้เสียเวลาอาบนาน (เปลืองน้ำได้อี๊ก)

        ในที่สุดวันงานก็มาถึง ความตื่นเต้นยังคงมีอยู่ แต่ไม่ได้ตื่นเต้นมากเหมือนเมื่อก่อน ที่ตื่นเต้นอาจจะเพราะแค่ยังไม่เคยมีประสบการณ์ขึ้นไปพูดบนเวทีต่อหน้าผู้ฟังเยอะขนาดนี้มาก่อน พอถึงหน้างานก่อนเวลาก็ไปเดินซ้อมพูดในหัววนไปวนมาบนเวที พอได้ขึ้นเวทีจริง "อ้าว มุมมองจากบนเวทีไม่เห็นจะมีอะไรพิเศษเลยนี่นา" จากนั้นความตื่นเต้นก็ลดลง

        เมื่องานเริ่ม ก็แอบตื่นเต้นนิดนึง แต่พอใกล้ถึงเวลาขึ้นเวทีก็เริ่มสงบลง จนกระทั่งได้ขึ้นไปนั่งบนเวทีรอคิวพูดก็ยังคงสงบอยู่ จะมีตื่นเต้นบ้างก็ตอนใกล้ถึงคิวพูด "จะถึงแล้ว ๆ" แต่พอได้เริ่มพูดก็ไม่ตื่นเต้นเลย สภาพภายในใจเหมือนเป็นทะเลสีครามในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส (เว่อร์เนอะ) พูดออกไปได้ไหลลื่น อาจจะมีพูดผิดจังหวะอยู่บ้าง พลาดไปอีกเล็กน้อย แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองทำได้ดีกว่าเมื่อก่อนมาก 

        หลังจบงานก็คิดว่า "เออ ถ้าจะทำจริงก็ทำได้นี่นา" แม้จะได้พูดไม่นาน แม้จะมีผิดพลาดไปบ้าง แม้จะไม่เพอร์เฟคที่สุด แต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดี และรู้สึกว่าตัวเองได้เติบโตก้าวหน้าไปอีกก้าว เลยอยากจะมาแชร์เคล็ด (ไม่) ลับง่าย ๆ ที่ผมใช้ในครั้งนี้ ว่าแล้วก็มาดูกันเลยดีกว่า

  1. ซ้อมให้หนักเข้าไว้! ไม่ว่าจะเป็นนักวิ่งฝีเท้าไว หรือจะเป็นนักพูดชั้นยอด ก็ต้องผ่านการซ้อมมาก่อน การซ้อมบ่อย ๆ ของผมก็เพื่อให้ตัวเองจดจำเนื้อหาที่จะพูดบวกกับให้ปากเคยชินกับเนื้อหาจะได้ขยับคล่อง ๆ พูดไหลลื่น การซ้อมของผมส่วนใหญ่จะเป็นการซ้อมพูดอยู่คนเดียวก่อน พอจำเนื้อหาได้แล้วก็ไปซ้อมพูดให้คนอื่นฟังบ้าง ซ้อมหน้ากระจกบ้าง การซ้อมให้คนอื่นฟังจะช่วยให้เราไม่เขินและชินกับการถูกจับตามอง ส่วนการซ้อมหน้ากระจกจะทำให้เราเห็นท่าทางเวลาพูดของเรา ช่วยให้เราสามารถปรับบุคลิกท่าทางในการพูดได้ เช่น ท่ายืน การวางมือ การแสดงท่าทาง
  2. มั่นใจในตัวเองเข้าไว้ เราทำได้! ผมว่าหนึ่งเหตุผลที่ทำให้การออกไปพูดบนเวทีล้มเหลว ก็คือการขาดความมั่นใจ พอขาดความมั่นใจ เราก็จะตื่นเต้น พอตื่นเต้นก็จะเริ่มลน แล้วก็พูดวนไปวนมา เพราะงั้นความมั่นใจในตัวเองก็เป็นอีกจุดหนึ่งสำคัญที่ทำให้การพูดผ่านไปได้ด้วยดี ซึ่งความมั่นใจก็จะเกิดได้จาก 2 ทาง คือ การมั่นฝึกซ้อม และการบอกกับตัวเองว่าเราทำได้..... การที่เรามั่นฝึกซ้อมจะเพิ่มความมั่นใจให้กับตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่ถ้าตัวเองยังคงคิดว่า "ยากจัง ทำไม่ได้หรอก" ก็จะเป็นการบั่นทอนความมั่นใจที่เพิ่มขึ้นมา เพราะงั้นเราต้องมาปรับทัศนคติกันนิดนึง บอกกับตัวเองว่า "เราทำได้ ไม่มีอะไรยากเกินความพยายามหรอก" แค่นี้บวกกับที่เราซ้อมมาก็จะทำให้เรามั่นใจได้มากขึ้น
  3. อย่าจำ script บทพูดทั้งหมด! ในขั้นตอนซ้อม แน่นอนว่าจะต้องมีการเตรียม script เนื้อหาที่จะพูด ซึ่งสิ่งที่อยู่ใน script ก็ควรจะเป็นหัวข้อที่จะพูด ไม่ใช่บทพูดทั้งหมด..... เมื่อก่อนผมเคยเขียน script เป็นบทพูดทั้งหมดแล้วพยายามท่องจำให้ได้ ผลลัพธ์ที่ออกมาคือพูดได้ตรงตามเนื้อหาเขียนไว้ แต่มันดูเป็นหุ่นยนต์มาก นอกจากนี้ถ้าเขียนบทพูดออกมายาว ๆ ก็จำไม่ค่อยได้อีก พอจำเนื้อหาที่จะพูดไม่ได้ก็ลน แล้วก็พังจ้า..... เพราะงั้นให้เราเขียนเฉพาะหัวข้อที่จะพูดออกมาแล้วก็จำแค่นั้น ส่วนเนื้อหาให้เราเล่าออกมา แม้ว่าจะเล่าออกมาไม่ซ้ำกันเลยในการพูดแต่ละครั้งก็ไม่เป็นไร ขอแค่พูดตามหัวข้อให้ครบก็พอ
  4. อย่ากลัวที่จะพูดผิด! ในการพูดแต่ละครั้งอาจจะมีบางคำที่เราพูดผิดไปบ้าง แต่ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้มีความมั่นใจ กล้าที่จะพูดออกไป ถ้าพูดผิดไปแล้วก็ไม่ต้องลน ให้แก้ไขไปตามสถานะการณ์ เช่น ถ้าเราพูดชื่อผิด ไม่ต้องขอโทษ ให้เว้นช่วงนิดนึงแล้วพูดชื่อที่ถูกต้องใหม่ไปเลย เป็นต้น
  5. ทำความรู้จักผู้ฟัง! ก่อนจะออกไปพูดในงาน เราก็ควรจะต้องรู้จักกับพื้นฐานของผู้ฟังก่อน เพื่อที่เราจะได้กำหนดความละเอียดของเนื้อหาและเลือกคำที่จะใช้ เช่น ถ้าผู้ฟังไม่ได้อยู่ในวงการ IT แล้วเราดันใช้แต่ศัพท์เทคนิค ผู้ฟังก็จะไม่รู้เรื่อง ฉะนั้นเราจะต้องมีการอธิบายหรือยกตัวอย่างเพิ่ม เพื่อทำให้ผู้ฟังรู้เรื่อง .....อันนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะผู้ฟังยอมสละเวลามาฟังและให้ความสนใจในสิ่งที่เราพูดแล้ว เราก็ต้องให้เกียรติและพูดให้เขาเข้าใจให้ได้เป็นการตอบแทน
  6. สติ! อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องมีในเวลาพูดก็คือ "สติ" เพื่อให้ตัวเองรู้ตัวอยู่ว่าพูดอะไรอยู่ และกำลังจะพูดอะไรต่อ การจะมีสติได้นั้น เราจะต้องไม่ตื่นเต้น ซึ่งก่อนขึ้นเวทีผมก็พยายามหายใจลึก ๆ ทำใจเย็น ๆ อาจจะไม่ถึงกับทำสมาธิ แต่ก็ควบคุมให้ตัวเองหายใจเป็นปกติ 
        และนี่ก็เป็นเคล็ด (ไม่) ลับของผมที่ใช้ในการขึ้นไปพูดบนเวทีนะครับ ประสบการณ์การพูดในครั้งนี้ทำให้ผมค่อนข้างรู้สึกสนุกมาก แล้วก็สอนให้รู้ว่าการขึ้นไปบนเวที ถูกแสงไฟส่องหน้า มันก็ไม่ได้น่ากลัวอะไรเลย ถ้าเราผ่านการซ้อมและมีความมั่นใจในตัวเอง สุดท้ายผมก็หวังว่าบล็อกนี้จะช่วยให้เพื่อน ๆ ที่อยากจะขึ้นไปพูดบนเวทีได้รู้เทคนิคและวิธีเตรียมตัวก่อนจะออกไปพูดนะครับ แล้วพบกันใหม่ในบล็อกถัดไป บ๊ายบาย.....


Share:

0 comments:

แสดงความคิดเห็น