ในปัจจุบัน นักวิชาการค้นพบหลักฐานจากการวิเคราะห์หัวกะโหลกว่ามนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ทวีปแอฟริกา หลังจากนั้นมนุษย์ก็เดินทางออกจากทวีปแอฟริกากระจายไปทั่วโลกจนกลายมาเป็นมนุษย์ยุคปัจจุบันที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ผิวพรรณ วัฒนธรรมประเพณี ฯลฯ
เมื่อประมาณ 100,000 ปีก่อน บรรพบุรุษของเราที่เริ่มอพยพออกเดินทางจากทวีปแอฟริกาต้องพบเจอกับสภาพอากาศอันโหดร้าย ซึ่งจากการศึกษาพบว่ายีนของมนุษย์ในยุคนั้นได้เกิดการกลายพันธุ์เพื่อช่วยให้บรรพบุรุษเรารอดพ้นจากโรคความเย็นกัด แต่ผลจากการกลายพันธุ์นั้นกลับเพิ่มความเป็นไปได้ที่จะทำให้เราเป็นโรคข้ออักเสบ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stanford และมหาวิทยาลัย Harvard พบว่ายีนที่เกิดการกลายพันธุ์คือยีน GDF5 ซึ่งเป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของกระดูกและการสร้างข้อต่อ ผลลัพธ์ทำให้ความยาวของกระดูกลดลงและเพิ่มโอกาสเป็นโรคข้อเสื่อมถึงสองเท่า
ในการเดินทางออกสู่โลกภายนอกนั้น กระดูกที่สั้นลงทำให้ร่างกายของบรรพบุรุษเรามีขนาดกระทัดรัดขึ้นซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการกระดูกหัก ลดการสูญเสียความร้อน และลดพื้นที่ผิวสัมผัสกับอากาศหนาวเย็น ถือเป็นประโยชน์มากกว่าโรคข้อเสื่อมซึ่งเป็นผลที่มาพร้อมกัน และเป็นไปตาม Allen's rule ที่กล่าวว่า "ประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตอากาศหนาวเย็นจะมีแขนขาสั้นกว่าประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตอบอุ่น"
การกลายพันธุ์ของยีนคือการปรับตัวให้สามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย แม้จะมีผลเสียตามมาด้วย แต่ถ้าผลดีมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตมากกว่า การกลายพันธุ์นั้นก็จะถูกธรรมชาติคัดเลือกให้ส่งต่อไปยังลูกหลานสืบต่อไป
ที่มา: Sciencealert