Shu Lam นักศึกษา (สาว) ชาวมาเลย์อายุ 25 ปี (อายุ 25 เองงั้นเรอะ!?) ที่กำลังศึกษาชั้นปรัญญาเอกอยู่ที่ University of Melbourne ประเทศออสเตรเลียค้นพบวิธีต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียดื้อยาโดยไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งวิธีดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการศึกษากับหนูทดลองในห้องปฏิบัติการ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นหนทางใหม่ในการต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของวงการแพทย์
ก่อนอื่นขอพูดถึงแบคทีเรียก่อน เพื่อน ๆ อาจจะมองว่าแบคทีเรียคือสิ่งสกปรก แต่จริง ๆ แล้วแบคทีเรียมีอยู่ทุกที่แม้แต่ในร่างกายของเรา โดยในส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะมีเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่นอยู่ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ
Microbiota อวัยวะที่ถูกลืม ของคุณหมอผิง) ซึ่งเจ้าแบคทีเรียประจำถิ่นเนี่ยจะสร้างประโยชน์ให้กับร่างกายของเรา แต่ถ้าแบคทีเรียดันหลุดเข้าไปอยู่ในอวัยวะส่วนอื่นของร่างกายที่ไม่ใช่ถิ่นของตัวเองก็จะเรียกว่า "ติดเชื้อ"
เวลาเราติดเชื้อ คุณหมอก็จะจ่ายยาปฏิชีวนะให้พร้อมทั้งกำชับให้กินจนยาหมด ซึ่งยาปฏิชีวนะจะทำลายแบคทีเรียในร่างกายของเราโดยไม่เกี่ยงว่าเป็นแบคทีเรียหลงถิ่นหรือเปล่า และตัวยาก็จะถูกคำนวณมาแล้วว่าควรจะกินเท่าไหร่ถึงจะทำลายแบคทีเรียหลงถิ่นจนหมด แต่ถ้าเรากินยาไม่หมด เจ้าแบคทีเรียหลงถิ่นก็จะมีชีวิตเหลือรอดพร้อมทั้งพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นจนสามารถต่อต้านยาปฏิชีวนะได้หรือที่เรียกกันว่า "เชื้อดื้อยา" กลายเป็นงานเข้าทันที เพราะยาปฏิชีวนะจะไม่สามารถทำอะไรแบคทีเรียหลงถิ่นได้แล้ว .....แต่นี่ยังไม่ถือว่าเลวร้ายที่สุด ถ้าแบคทีเรียที่ดื้อยาเกิดหลุดไปติดต่อคนอื่นแล้วกระจายต่อไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่สามารถกำจัดได้ .....ลองจินตนาการถึงหนังซอมบี้ยึดครองโลกดูสิครับ (ฮา)
ถึงตรงนี้เพื่อน ๆ คงพอจะเข้าใจคร่าว ๆ เกี่ยวกับแบคทีเรียบ้างแล้ว ทีนี้เรามาดูผลงานของคุณ Shu Lam กันดีกว่า คุณ Shu Lam ได้พัฒนาสารโพลิเมอร์เปปไทด์ชื่อว่า Structurally Nanoengineered Antimicrobial Peptide Polymers (หรือเรียกสั้น ๆ ว่า SNAPPs) ที่มีรูปร่างคล้ายดาว และสามารถฆ่าแบคทีเรียดื้อยาได้ 6 สายพันธุ์โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะ เจ้าโพลิเมอร์เปปไทด์นี้จะเข้าไปฉีกผนังเซลล์ของแบคทีเรียที่ดื้อยา ทำให้เชื้อเกิดภาวะเครียดแล้วก็ตายไปเอง แม้ว่าจะทดสอบหลาย ๆ รุ่นแล้วก็ไม่พบว่าแบคทีเรียจะทนทานต่อสารโพลิเมอร์เปปไทด์นี้ได้ นอกจากนี้สาร SNAPPs ยังมีขนาดโมเลกุลใหญ่เกินกว่าที่จะเข้าไปส่งผลกระทบต่อเซลล์ร่างกายอีกด้วย
สาร SANPPs (จุดสีเขียวในภาพ) ที่กำลังล้อมรอบและฉีกผนังเซลล์ของแบคทีเรีย จากการทดลองได้ผลลัพธ์ดี แม้จะยังเร็วไปหน่อยที่สรุปว่าใช้ได้ผลกับคน แต่งานวิจัยนี้ก็ได้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Microbiology และถูกยกย่องว่าเป็น Breakthrough (การทลายขีดจำกัด) ที่เปลี่ยนแปลงวงการแพทย์
ในปัจจุบันไม่ได้มีการพัฒนายาปฏิชีวนะมาหลายปีแล้ว ซึ่งแบคทีเรียที่กลายพันธุ์ทนทานต่อยาปฏิชีวนะได้คร่าชีวิตผู้คนไป 700,000 คนต่อปี และมีการคาดการณ์ว่าผู้เสียชีวิตจะเพิ่มเป็น 10,000,000 คนในปี 2593 (โลกนี้ช่างอยู่ยากนัก) .....แต่เดี๋ยวก่อน ไม่แน่ว่าคุณ Shu Lam อาจจะเป็นผู้กอบกู้โลกอนาคตอันมืดมนนั้นก็ได้
ที่มา:
Sciencealert.com